Burnout Syndrome คืออะไร อันตรายไหม ใครบ้างเสี่ยงเป็น สัญญาณบ่งบอกว่ากำลังหมดไฟในการทำงาน มีอะไรบ้าง เกิดจากอะไร รักษาและป้องกันอย่างไร ?

ภาวะหมดไฟในวัยทำงาน BURNOUT SYNDROME คืออะไร ป้องกันอย่างไร ?

อาการเครียด หดหู่ เบื่อ ไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน ที่ถูกพูดถึงบ่อย ๆ ในโซเชียลว่า Burnout Syndrome หรือ ภาวะหมดไฟในการทำงาน กำลังเป็นปัญหาที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะในกลุ่มพนักงานออฟฟิศ เนื่องจากความเครียด ความกดดันในการทำงาน

หากสังเกตตัวเองแล้วพบว่ามีอาการที่สุ่มเสี่ยงเป็น Burnout Syndrome ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อให้แนะนำวิธีรับมืออย่างเหมาะสม ก่อนอาการจะรุนแรง นำไปสู่ปัญหาทางอารมณ์และร่างกาย เช่น นอนไม่หลับ เหนื่อยล้าเรื้อรัง เป็นโรคซึมเศร้า วิตกกังวล

  1. ภาวะหมดไฟในการทำงาน คืออะไร ?
  2. ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นภาวะหมดไฟ
  3. สัญญาณเตือนภาวะหมดไฟในการทำงานมีอะไรบ้าง ?
  4. ภาวะหมดไฟในการทำงานมีผลเสียอย่างไร ?
  5. รับมือภาวะหมดไฟในการทำงานอย่างไรดี ?

ภาวะหมดไฟในการทำงาน คืออะไร ?

ภาวะหมดไฟในการทำงาน คือ ภาวะความอ่อนล้าทางอารมณ์ เป็นการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจที่เกิดจากความเครียดเรื้อรัง ทำให้รู้สึกหมดไฟ มองตัวเองในแง่ลบ ไม่มีแรงจูงใจที่จะประสบความสำเร็จในการทำงาน รู้สึกห่างเหินจากผู้ร่วมงาน และไม่รู้สึกผูกพันกับสถานที่ทำงาน

ภาวะหมดไฟในการทำงาน ได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นโรคใหม่จากองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อให้อยู่ในแนวทางการวินิจฉัยโรค แม้ยังไม่ถูกจัดว่าเป็นความเจ็บป่วยหรือมีเงื่อนไขทางการแพทย์ (Medical condition) แต่นักวิชาการที่เกี่ยวข้องก็ให้ความสนใจและมีการพูดถึงประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง

ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นภาวะหมดไฟ

  • ผู้ที่ทำงานหนัก มีภาระงานมาก ทำงานล่วงเวลา
  • งานมีความซับซ้อน รีบเร่ง ทำให้เกิดความกดดัน
  • จริงจังเกินไป ขาดความยืดหยุ่น ยึดติดในความสมบูรณ์แบบ
  • ทำงานที่ไม่ได้มีความรักหรือความปรารถนาที่จะทำ
  • ขาดอำนาจในการตัดสินใจ มีปัญหาการเรียงลำดับความสำคัญของงาน
  • ไม่ได้รับการตอบแทนหรือรางวัลที่เพียงพอต่อสิ่งที่ทุ่มเท
  • ไม่ได้รับความยุติธรรม ขาดความเชื่อใจ และไม่เปิดใจยอมรับ
  • รู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของทีม ไร้ตัวตน
  • ระบบบริหารงานหรือค่านิยมองค์กรขัดต่อคุณค่า และจุดมุ่งหมายในชีวิต
  • องค์กรไม่มั่นคง นโยบายบริหารไม่มีความชัดเจน

Burnout Syndrome สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนที่ขาดสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน เช่น ในผู้ที่มีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการบริการ ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ต้องแบกรับความเสี่ยง ความกดดัน ความคาดหวัง ทำให้มีทัศนคติในด้านลบต่องานที่ทำ จึงนำไปสู่ภาวะภาวะหมดไฟในที่สุด

สัญญาณเตือนภาวะหมดไฟในการทำงานมีอะไรบ้าง ?

เนื่องจาก Burnout Syndrome เป็นปฏิกิริยาตอบสนองทางอารมณ์ต่องานที่ทำในรูปแบบต่าง ๆ หากสงสัยว่าตนเองมีกำลังมีภาวะหมดไฟ สามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้ดังนี้

  • อาการทางกาย สูญเสียพลังงานหรืออ่อนเพลีย (Exhaustion)

นอนไม่หลับ ร่างกายอ่อนเพลีย เหนื่อย หมดแรง ปวดหัว ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ ภูมิตก ไม่มีสมาธิ ความสามารถในการจำลดลง

  • อาการทางอารมณ์ รู้สึกไม่อยากทำงาน หรือมีทัศนคติเชิงลบต่องานที่ทำ (Negativism)

รู้สึกเบื่อ ไม่มีความสุข หดหู่ ไม่มีชีวิตชีวา สิ้นหวัง ไม่มีแรงจูงใจ อารมณ์แปรปรวน โกรธ หงุดหงิดง่าย มองโลกในแง่ร้าย ไม่สนใจความรู้สึกผู้อื่น มีความขัดแย้งระหว่างบุคคลมากขึ้น สงสัยในความสามารถของตัวเอง

  • อาการทางพฤติกรรม ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง (Professional Efficacy )

มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนน้อยลง แยกตัวออกจากกลุ่ม หมกมุ่นอยู่กับการทำงาน ไม่กระตือรือร้น ผัดวันประกันพรุ่ง บริหารจัดการเวลาไม่ได้ ขาดความคิดสร้างสรรค์ ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ไปจนถึงมีการใช้สารเสพติดหรือแอลกอฮอล์

ภาวะหมดไฟในการทำงานมีผลเสียอย่างไร ?

ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout) มีความสัมพันธ์กับความเครียด จึงนำไปสู่ปัญหาทางร่างกายและอารมณ์หลายอย่าง ทั้งการนอนไม่หลับ ฝันร้าย ไม่มีสมาธิ เบื่อ หดหู่ ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถเป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตเช่น โรคซึมเศร้า ตามมาได้ หรือในบางคนที่มีการใช้ยา สารเสพติด แอลกฮอล์ และมีภาวะเครียดเรื้อรัง ก็นำไปสู่การเป็นโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน

จะเห็นได้ว่าจิตใจและร่างกายของคนเรามีความสัมพันธ์กัน หากจิตใจมีการเจ็บป่วย ก็จะแสดงออกมาทางพฤติกรรมและร่างกายด้วย

แม้ภาวะ Burnout Syndrome จะยังไม่จัดว่าเป็นความเจ็บป่วยหรือมีเงื่อนไขทางการแพทย์ แต่ควรเฝ้าระวัง สังเกตอาการ อย่านิ่งนอนใจจนเกินไป เพราะการรู้เท่าทันโรคจะทำให้คนไข้สามารถรับมือและดูแลตัวเองได้อย่างถูกวิธี ก่อนปัญหาจะลุกลามไปสู่การเป็นโรคอื่น ๆ ที่รักษาได้ยากกว่า

รับมือภาวะหมดไฟในการทำงานอย่างไรดี ?

หากพบว่าตนเองมีภาวะหมดไฟในการทำงาน ควรปรับสมดุลชีวิตส่วนตัวและการทำงาน เพื่อให้กลับสู่ภาวะปกติ ดังนี้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ นอนอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟูอย่างเต็มที่ ขจัดความเหนื่อยล้าที่สะสมมา ช่วยปรับสมดุลร่างกาย
  • ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที 3-4 วัน/สัปดาห์ รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติด
  • จัดระเบียบการใช้ชีวิต เรียงลำดับความสำคัญของงาน และไม่ควรนำงานกลับมาทำที่บ้านหากไม่จำเป็น
  • ทำสมาธิ ผ่อนคลายความเครียด ยืดหยุ่นในสถานการณ์ต่าง ๆ ให้มากขึ้น ลดความกดดันตนเอง
  • ยิ้มแย้มแจ่มใส สร้างความสัมพันธ์และบรรยากาศที่ดีในการทำงาน
  • ลดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดความเครียดจากการรับข่าวสารมากเกินไปโดยไม่รู้ตัว ทำให้นอนไม่หลับ สมาธิสั้น
  • ปรับทัศนคติในการทำงาน เปิดใจยอมรับคนรอบข้าง ทำความเข้าใจเนื้องาน และองค์กร
  • ลาพักร้อน ท่องเที่ยว เพื่อให้สมองปลอดโปร่ง ปรับสมดุลจิตใจ

หากรู้สึกหมดไฟในการทำงาน เครียด หรือหดหู่มาก ๆ การขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างที่ไว้ใจและเข้าใจ เพื่อพูดคุย ระบายความเครียด จะช่วยบรรเทาอาการของภาวะ Burnout Syndrome ได้ แต่หากรู้สึกว่าอาการมีความรุนแรง และไม่สามารถรับมือได้ ควรรีบปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

สิ่งสำคัญเมื่อต้องเผชิญกับภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout Syndrome คือการหยุดพักผ่อน ให้เวลาตัวเองได้จัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย อารมณ์ จิตใจ เพื่อปรับสมดุลชีวิตให้กลับสู่ภาวะปกติ และหา Work Life Balance ในการทำงาน เพื่อป้องกันไม่ให้กลับมามีภาวะ Burnout อีก

Start typing and press Enter to search