แผลแบบใดเรียก แผลไหม้ ?

แผลไหม้ (Burn Injury) คือ บาดแผลที่ผิวหนังถูกทำลายจากความร้อน หรือ ความเย็น บางกรณีแผลอาจลึกไปถึงกระดูก ซึ่งแผลไฟไหม้ที่เราเรียกกันนั้น ไม่ได้หมายถึงเฉพาะแผลที่เกิดจากไฟไหม้ หรือน้ำร้อนลวกเท่านั้น แต่คำนี้ยังครอบคลุมถึงลักษณะบาดแผลที่เกิดจากไฟฟ้าแรงสูงช็อต หรือการสัมผัสกับวัตถุที่มีความร้อนสูงๆ หรือการสัมผัสกับสารเคมีอันตรายอีกด้วย

ทำไมการประเมินบาดแผลจึงสำคัญ ?

การประเมินบาดแผล สามารถแยกพิจารณาได้ 2 แบบ คือ การประเมินบาดแผลจากที่มาของการเกิดบาดแผล และการประเมินบาดแผลจากความลึก ความรุนแรงของบาดแผล

1.การประเมินบาดแผลโดยพิจารณาจากที่มาของการเกิดบาดแผล ได้แก่

1.1 แผลที่เกิดจากเปลวไฟ (Flame Injury)
1.2 แผลที่เกิดจากของเหลวร้อน (Scald Injury)
1.3 แผลไหม้จากกระแสไฟฟ้า (Electrical injury)
1.4 แผลไหม้จากสารเคมี (Chemical injury)

2.การประเมินบาดแผลพิจารณาจากความลึก ความรุนแรงของบาดแผล แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่

  • ความรุนแรงระดับแรก (First degree burn) จุดสังเกตเบื้องต้นในระดับนี้ คือ ผิวจะแดง จับแล้วเจ็บ รู้สึกปวดแสบปวดร้อน แต่ไม่มีตุ่มน้ำพอง
  • ความรุนแรงระดับที่สอง (Second degree burn) บาดแผลระดับนี้ที่สังเกตได้ คือ แผลจะบวมแดง มีตุ่มน้ำพอง และรู้สึกแสบบาดแผลมาก
  • ความรุนแรงระดับที่สาม (Third degree burn) คนไข้จะไม่รู้สึกเจ็บปวดที่แผล เนื้อที่แผลจะเป็นสีขาว ไหม้ แห้งแข็ง

สำหรับการประเมินบาดแผล นอกจากพิจารณาตามเกณฑ์ข้างต้นแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับขนาดของบาดแผลและวัยของคนไข้และโรคที่คนไข้เป็นอยู่แต่เดิมประกอบร่วมด้วย

หากถามว่าการประเมินข้างต้นมีความสำคัญอย่างไร จุดสำคัญก็คือเพื่อพิจารณาเลือกแนวทางการรักษา และขณะเดียวกันเพื่อทำความเข้าใจกับคนไข้ในการรักษา วิธีการรักษาจะแตกต่างกันตามความรุนแรงของบาดแผล

แนวทางการรักษา

  • กลุ่มที่บาดเจ็บน้อย มีเฉพาะบาดแผลที่ขนาดไม่กว้างและไม่ลึก กลุ่มนี้สามารถให้การรักษาดูแลเฉพาะเรื่องบาดแผลเพียงอย่างเดียว
  • กลุ่มที่บาดเจ็บรุนแรง คือ กลุ่มที่มีบาดแผลลึก หรือ กว้าง และต้องให้การรักษาด้านอื่นเพิ่มเติม เช่น การให้น้ำเกลือ การใช้เครื่องช่วยหายใจ การให้ยากระตุ้นหัวใจ หรือมีปัญหาโรคระบบอื่นๆร่วมด้วย กลุ่มนี้อาจต้องให้การรักษาร่วมกันกับแพทย์สหสาขาเพื่อให้ครอบคลุมทุกปัญหาของคนไข้ และในกรณีบาดแผลที่ลึกและกว้าง นอกจากการรักษาบาดแผลแล้ว บางรายต้องรักษาด้วยการปลูกถ่ายผิวหนังเพื่อทดแทนเนื้อในส่วนที่เสียหายเพิ่มเติม นอกเหนือจากส่วนที่ร่างกายสามารถซ่อมแซมได้เองตามธรรมชาติ

ทุกกระบวนการในการรักษา สิ่งที่เราให้ความสำคัญเสมอ นั่นคือ การดูแลรักษาโดยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ คัดสรรบุคคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญและได้รับการฝึกฝนแบบเฉพาะทาง การให้การดูแลรักษาที่ดีเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ เลือกใช้อุปกรณ์ทำแผลที่ดีมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันวัสดุในการทำแผล อุปกรณ์ในการรักษามีการพัฒนามากขึ้น จึงมีส่วนช่วยให้แผลหายได้เร็วขึ้น และนอกจากนั้นเรายังดูแลเรื่องโภชนาการและให้ความรู้เรื่องโภชนาการกับคนไข้ควบคู่ไปพร้อมกัน

ระยะเวลาในการรักษา

แน่นอนว่า แค่เพียงเริ่มต้นการรักษาบางคนก็อยากทราบว่าต้องรักษาตัวนานแค่ไหน ระยะเวลาในการรักษาขึ้นอยู่กับขนาด ความลึกของบาดแผล และวัยของคนไข้เป็นหลัก เช่น กรณีที่มีบาดแผลเพียงอย่างเดียว แผลมีขนาดเล็กและตื้น อาจใช้เวลารักษาประมาณ 2-3 สัปดาห์

หากแผลขนาดใหญ่ ต้องพิจารณาด้วยว่าแผลที่เกิดขึ้นเมื่อเทียบกับผิวหนังทั้งหมดแล้วคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ และอยู่ในช่วงวัยใด ซึ่งในวัยสูงอายุจะเป็นวัยที่บาดแผลหายได้ช้า เช่น กรณีมีแผลขนาดใหญ่คิดเป็น 40% ของขนาดพื้นที่ผิว ในเด็กอาจใช้เวลาไม่นาน แต่กลับกันสูงอายุบางคนอาจต้องใช้เวลานอนรักษาตัวที่รพ.เป็นเวลาหลายเดือนเลยทีเดียว

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกต้องมีประโยชน์ต่อการรักษา

เมื่อเกิดอุบัติเหตุแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก การปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนมาพบแพทย์ เรียกได้ว่าสำคัญมาก เพราะบางรายได้รับการปฐมพยาบาลที่ไม่ถูกต้องจึงส่งผลให้แผลมีความรุนแรงมากขึ้น เช่น แผลมีขนาดลึกขึ้น หรือเกิดการติดเชื้อ ดังนั้นการปฐมพยาบาลที่ถูกต้องควรทำเช่นไร

  1. เมื่อเกิดอุบัติเหตุจากของเหลวร้อน ควรรีบเปิดน้ำก็อกอุณหภูมิปกติให้ไหลผ่านแผลประมาณ 15-20 นาที ห้ามนำน้ำเย็นจัดไปล้างแผล เพราะจะส่งผลให้เนื้อบริเวณนั้นเสียหายเพิ่มขึ้นได้ และไม่ควรใช้ยาสีฟันหรือสิ่งอื่นใดทาแผล
  2. กรณีเกิดบาดแผลจากเปลวไฟ ต้องรีบดับไฟให้เร็ว นำสิ่งของที่เป็นความร้อนออกจากตัวคนไข้ และถอดเสื้อผ้าชุดที่เกิดเหตุออกทั้งหมดเพื่อช่วยลดความร้อนที่ร่างกาย
  3. กรณีเกิดอุบัติเหตุจากสารเคมีแห้ง ควรตัดเสื้อผ้าส่วนนั้นทิ้งและเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ทันที
  4. กรณีเกิดบาดแผลจากกระแสไฟฟ้า ควรรีบไปตัดต้นทางของไฟฟ้า เพราะการช่วยขณะยังมีกระแสไฟฟ้า ผู้ช่วยอาจได้รับอันตรายได้

เมื่อเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ควรรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้นและรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

ผศ.พญ.กุสุมา ชินอรุณชัย
ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านอุบัติเหตุและบาดแผลโรงพยาบาลพญาไท3
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-467-1111 ต่อ  3100

Start typing and press Enter to search