ภาวะซึมเศร้า (depression) เป็นภาวะที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง หรือพิการ ทุพลภาพ กลุ่มผู้สูงอายุเหล่านี้ อาจมีความเสี่ยงต่อ ภาวะซึมเศร้าได้สูงกว่าผู้สูงอายุ ทั่วไป  และที่สำคัญภาวะซึมเศร้าที่เกิดขึ้นนี้อาจนำไปสู่  “โรคซึมเศร้าได้ในอนาคต จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ดูแลต้องทำความเข้าใจและตระหนักถึงผลร้ายจากภาวะดังกล่าว

รู้จักภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

ภาวะอารมณ์เศร้า หรือโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ  มักเกิดในช่วงอายุ ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป นอกจากนี้โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ยังมักเกี่ยวข้องกับโรคทางกายต่างๆ เช่นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นโรคเรื้อรังที่ทำให้มีความลำบากในการใช้ชีวิต

อาการซึมเศร้าในผู้สูงอายุ เป็นอย่างไร

ภาวะซึมเศร้า ถือเป็นความเจ็บป่วย  มิใช่แค่ความอ่อนแอทางจิตใจที่หลายๆ คนเข้าใจ  ผู้สูงอายุจะมีความรู้สึกไม่สบายใจ ทุกข์ใจ เศร้า หงอย เบื่อ ไม่อยากพูด ท้อแท้ ซึม จนกระทั่งไม่อยากทำอะไร แม้แต่การรับประทานอาหาร  และยังมีความเสี่ยงสูงที่ฆ่าตัวตายอีกด้วย

10 อาการภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ที่ผู้ดูแลจำเป็นต้องรู้

1. สึกเบื่อหน่าย : ผู้สูงอายุจะรู้สึกเบื่อหน่าย สนใจสิ่งต่างๆ รอบตัวน้อยลง หรือหมดความสนใจ ไม่เบิกบาน ห่อเหี่ยว  ไม่อยากร่วมกิจกรรม พูดน้อยลง ไม่ดูแลตัวเอง ไม่ยอมกินยา เบื่ออาหาร น้ำหนักลด

2. รู้สึกเศร้า : ผู้สูงอายุจะเศร้าโศกเสียใจ น้อยใจง่าย ร้องไห้ง่าย รวมถึงมักรู้สึกท้อใจ

3. พฤติกรรมการนอนเปลี่ยนแปลง : ผู้สูงอายุจะนอนไม่หลับ หรือหลับๆ ตื่นๆ ตื่นเช้ากว่าปกติ ตื่นกลางดึกหรืออาจนอนมากขึ้น หลับทั้งวัน ทั้งคืน นอนขี้เซา

4. พฤติกรรมการกินเปลี่ยนแปลง : มักเบื่ออาหาร ไม่ค่อยหิว ขณะเดียวกันบางรายอาจมีอาการตรงข้าม คือ อาจกินจุขึ้น  ของที่เคยชอบกินกลับไม่อยากกิน หรือบางราย อาจอยากกินของที่ปกติไม่กิน เช่น ของหวานๆ เป็นต้น

5. การเคลื่อนไหวของร่างกายเปลี่ยนแปลง: ผู้สูงอายุอาจเคลื่อนไหวเชื่องช้าลงหรือเคลื่อนไหวมากขึ้น กระวนกระวาย

6.กำลังกายเปลี่ยนแปลง: ผู้สูงอายุมักรู้สึกอ่อนเพลียง่าย ทำอะไรช้า แรงลดน้อยถอยลง รู้สึกไม่ค่อยแข็งแรงเหมือนเดิม บางราย อาจบ่นออกมาให้ได้ยินเกี่ยวกับอาการทางร่างกาย เช่น ปวดเมื่อย อ่อนเพลียแต่เมื่อตรวจแล้วไม่พบ สาเหตุ หรือมีอาการมากกว่าอาการปกติของโรคนั้นๆ

7. รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า : มักไม่เห็นค่าตนเอง รู้สึกผิด หรือรู้สึกแย่กับตัวเอง คิดว่าตนเป็นภาระของลูกหลาน ไม่มีความสามารถเหมือนที่เคยเป็น ความภาคภูมิใจในตนเองลดลง รวมถึงหมดหวังในชีวิต

8. สมาธิและความจำบกพร่อง: มักมีอาการหลงลืมบ่อยๆ โดยเฉพาะลืมเรื่องใหม่ๆ ใจลอย ตัดสินใจผิดพลาด ลังเล แบบทีไม่เคยเป็นมาก่อน

9. สภาวะทางอารมณ์เปลี่ยนไป : เช่นจากที่เคยเป็นคนอารมณ์ดีก็เปลี่ยนเป็นหงุดหงิดง่าย มีเหตุผลน้อยลง  ขี้บ่นมากขึ้น หรือสนใจในสิ่งที่เคยชอบลดลงจากเดิม

10. ทำร้ายตัวเอง: ผู้สูงอายุบางรายที่มีอาการมากๆ อาจรู้สึกไม่อยากมีชีวิต บางรายจะคิดหรือพูดถึงความตายอยู่บ่อยๆ นึกอยากตาย และอาจวางแผนทำร้ายร่างกาย เช่น กินยาเกินขนาด แขวนคอ หรือใช้อาวุธทำร้ายตนเองผู้สูงอายุบางรายอาจไม่ยอมกินยาประจำตัว เพื่อปล่อยให้อาการทรุดลงจนเสียชีวิต

วิธีรักษาโรคซึมเศร้า

จำเป็นต้องเข้ารับการปรึกษาแพทย์ทางจิตเวชในการดูแลรักษาตามอาการและบุคคลนั้นๆ  โดยอาจจะต้องใช้ทางยาทางจิตเวชในการควบคุมรักษา

การรักษาต้องรักษาให้ตรงจุด หากเป็นสาเหตุทางกาย หรือทางจิตสังคม สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย ต้องแก้ปรับปรุง เปลี่ยนสภาพแวดล้อมรอบข้างของผู้สูงอายุ การบำบัดทางจิต  และให้ความเข้าใจและเอาใส่ใจดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น และควรติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง

ควรปฏิบัติตัวอย่างไรถ้าผู้สูงอายุเป็นโรคซึมเศร้า

ในกรณีที่ผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้าและเข้ารับการรักษา อาการซึมเศร้าหายแล้ว ก็อาจกลับมาเป็นได้อีก หากถูกละเลย  ดังนั้นคนในครอบครัว ลูก หลานที่ดูแล ควรเอาใจใส่ควบคุมปัจจัยกระตุ้น ที่ส่งผลให้ภาวะซึมเศร้ากลับมาอีกครั้ง โดยการคุยกันและฟังกันให้มากขึ้น ไม่ทิ้งผู้ป่วยไว้ตามลำพัง  เก็บของมีคม อาวุธ หรือสารพิษในบ้าน ให้ไกลมือผู้ป่วย            ควรมีคนคอยดูแลอยู่เสมอ  ในกรณีที่จำเป็นต้องรับประทานยาไม่ควรปรับลดหรือเพิ่มยาเอง และพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ

วิธีปฏิบัติต่อผู้สูงอายุ เพื่อลดความเสี่ยงโรคซึมเศร้า

1. คำนึงถึงอุปสรรคทางสุขภาพของผู้สูงอายุ ทั้งด้านความเจ็บปวดและการรับรู้ เช่น ตาไม่ดี ได้ยินไม่ชัด เนื่องจากปัญหาเหล่านี้อาจส่งผลให้ผู้ดูแลรู้สึกรำคาญใจ เครียด หงุดหงิด และมุ่งมั่นน้อยลง

2. ค้นหาสิ่งที่บั่นทอนจิตใจของผู้สูงอายุ ผู้ดูแลควรมองหาว่าผู้สูงอายุมีสิ่งใดที่รบกวนจิตใจ เช่น ความทุกข์ทรมานจากสุขภาพ ความรู้สึกกลัว โดยเฉพาะกลัวความตาย กลัวการอยู่ห่างลูกหลาน หรือ มรดก เมื่อพอทราบบ้างแล้วให้หาทางแก้ไขหรือบรรเทา ช่วยให้ผู้สูงอายุจัดการเรื่องต่างๆที่ค้างคาใจ ในกรณีของสุขภาพ อาจต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง

3. สร้างความสุขและกำลังใจให้กับผู้สูงอายุ  แนะนำให้หากิจกรรม หรืองานอดิเรกที่ผู้สูงอายุชอบ  สอบถามความต้องการ เพื่อให้ผู้สูงอายุรื่นเริงบันเทิงใจ ส่งเสริมให้เกิดความรู้สึกเป็นสุขเท่าที่จะ เช่น ฟังเพลงเก่าๆ พอไปเยี่ยมญาติ  เยี่ยมเพื่อนวัยเดียวกัน พาลูกหลานมาอยู่หรือพูดคุยกับท่าน หรือพาไปวัด ฟังธรรมะเป็นต้น

เรียกได้ว่าการดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่คนในครอบครัวต้องให้ความสำคัญ  เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิด “โรคซึมเศร้า” ซึ่งเป็นอาการป่วยที่รักษาให้หายขาดได้  หากได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง  ลูกหลาน คนใกล้ตัว จึงต้องทำความเข้าใจโรคนี้ให้มากและหาทางป้องกันหรือรักษา

Start typing and press Enter to search