เหงื่อออกมือมากอย่านอนใจ พบแพทย์ให้ไวเพื่อความสุขของชีวิต

ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนเป็นปกติไม่ว่าจะฤดูไหนก็แล้วแต่ของบ้านเรา ทำให้ “เหงื่อ” ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ทั้งนี้ เราก็ควรสังเกตให้ดีด้วยว่า “เหงื่อที่ไหลออกมา” ไม่ว่าจะเป็นตามตัว รักแร้ ข้อพับ และมือนั้น มีปริมาณที่มากผิดปกติหรือเปล่า? เพราะหากพิจารณาแล้วพบว่ามีเหงื่อออกมากผิดปกติล่ะก็ นั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคร้าย หรือความบกพร่องผิดปกติของร่างกายที่อาจส่งผลทำลายคุณภาพชีวิตและความสุขของเราก็เป็นได้ โดยในปัจจุบัน ภาวะเหงื่อออกมือมากผิดปกตินั้น ถือว่ามักพบได้บ่อยขึ้น ซึ่งเพื่อเป็นแนวทางในการสังเกตอาการ และทำความเข้าใจภาวะเหงื่อออกมือให้กระจ่างชัด ว่าเป็นแค่เหงื่อออกธรรมดา หรือเกิดจากความผิดปกติ วันนี้เราจึงจะพาไปทำความรู้จักกับภาวะนี้ให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิมกัน

เหงื่อออกมือคืออะไร ทำความรู้จักไว้จะได้เข้าใจมากขึ้น?

เหงื่อออกมือ คือ ภาวะที่เหงื่อออกมากผิดปกติ ซึ่งจริงๆ สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายๆ ตำแหน่งของร่างกาย เพียงแต่ว่าที่มือนั้น ถือเป็นตำแหน่งที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนไข้มากที่สุด เพราะขัดขวางต่อการทำงานที่รับผิดชอบ ทั้งนี้ ภาวะเหงื่อออกมือมากผิดปกติ ในทางการแพทย์มีชื่อเรียกว่า Hyperhidrosis ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มภาวะเหงื่อออกมือที่มีโรคอื่นเป็นสาเหตุมาเป็นตัวกระตุ้น อาทิ โรคหัวใจ ไทรอยด์ และอีกกลุ่มคือ เป็นภาวะเหงื่อออกมือที่เกิดจากการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติที่ผิดปกติ หรือตัวต่อมเหงื่อทำงานมากผิดปกติ ซึ่งกลุ่มหลังนี้มักพบได้มากกว่า

ต้องเหงื่อออกมือมากแค่ไหน ถึงจะแน่ใจว่าผิดปกติ?

ในความเป็นจริงแล้ว เราไม่สามารถวัดหรือนับเป็นปริมาณได้ว่า ต้องเหงื่อออกมาขนาดไหนถึงจะถือว่าผิดปกติ แต่เราจะพิจารณาจากรูปแบบของการใช้ชีวิตประจำวันเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น ถ้าปกติเราใช้ชีวิตประจำวัน ทำงานอยู่ในห้องแอร์ ที่อุณหภูมิ 23-25 องศาเซลเซียส แต่ปรากฏว่ามีเหงื่อไหลออกมาเป็นหยดจากมือ หรือไหลเป็นน้ำ เหมือนเวลาเราเล่นกีฬา แบบนี้ถือว่าผิดปกติ หรือในอีกกรณีหนึ่ง คือจะพิจารณาจากความสัมพันธ์กับหน้าที่การทำงาน เช่น ถ้าเราทำงานกลางแจ้ง หรือต้องใช้แรงในการทำงานมาก ก็เป็นไปได้มากที่จะมีเหงื่อออกมากผิดปกติ แต่กลับกันถ้าเป็นหน้าที่รับผิดชอบไม่ค่อยได้ทำงานกลางแจ้ง และไม่ได้ออกแรงมาก ทำงานในห้องแอร์เป็นส่วนใหญ่ แต่ปรากฏว่าตื่นเต้นแล้วเหงื่อออก เมื่อเข้าสังคมแล้วจะมีเหงื่อออกมาก แบบนี้ถือว่ามีแนวโน้มที่จะผิดปกติ สรุปโดยภาพรวมของการสังเกตอาการเพื่อดูว่าเรามีภาวะเหงื่อออกผิดปกติหรือเปล่า จะต้องพิจารณาว่า ปริมาณเหงื่อที่ไหลออกมาว่าสัมพันธ์กับรูปแบบการทำงานและการใช้ชีวิตแค่ไหน คือถ้านั่งอยู่เฉยๆ ในห้องแอร์แล้วมีเหงื่อไหลออกมา แบบนี้ถือว่าผิดปกติแน่นอน

วินิจฉัยอย่างไร จึงทราบสาเหตุว่าทำไมเหงื่อถึงออกมากผิดปกติ?

เมื่อคนไข้มาพบแพทย์ด้วยอาการเหงื่อออกมือมากผิดปกติ อันดับแรกที่แพทย์จะทำคือการซักประวัติ ถามอาการ และตรวจร่างกาย เพื่อสืบค้นหาสาเหตุว่า “อะไรคือสิ่งที่ทำให้เกิดภาวะเหงื่อออกมือผิดปกติ” ทั้งนี้ อาจมีการเจาะเลือด เอ็กซเรย์ปอดร่วมด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นสาเหตุมาจากโรคหัวใจหรือไทรอยด์ มาเป็นตัวกระตุ้นหรือเปล่า? เพราะถ้าใช่ ก็จะทำการรักษาตามแนวทางการรักษาโรคนั้นๆ ต่อไป แต่ถ้าหากไม่ใช่ และวินิจฉัยว่าเป็นภาวะเหงื่อออกมือมากผิดปกติที่เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติ ก็จะต้องทำการรักษาตามวิธีเฉพาะทาง ซึ่งก็จะต้องให้คนไข้ตัดสินใจเลือกแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับตนเองมากที่สุด

รักษาอย่างไร ให้เหงื่อหยุดไหลจนกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติ?

ปัจจุบันแนวทางในการรักษาภาวะเหงื่อออกมือมากผิดปกติในประเทศไทยนั้น มีอยู่ด้วยกัน 3 วิธี ได้แก่

  1. รักษาด้วยการใช้ยาทา โดยตัวยาจะมีส่วนผสมของอะลูมิเนียมคลอไรด์ ที่ทำหน้าที่ลดการทำงานของต่อมเหงื่อที่มือ ถือเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ประหยัดที่สุด แต่นับเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ และให้ผลชั่วคราว ทำให้ต้องคอยทามืออยู่เรื่อยๆ วันละหลายๆ รอบ
  2. รักษาด้วยการฉีดยา โดยยาที่ฉีดจะเป็นโบทูลินั่ม ท็อกซิน ชนิดเดียวกันกับที่ใช้ในการแก้ปัญหาริ้วรอยบนใบหน้า ซึ่งโบทูลินั่ม ท็อกซิน ที่ฉีดเข้าไปจะไปทำหน้าที่ยับยั้งสารสื่อประสาทที่จะไปเลี้ยงต่อมเหงื่อ ทำให้ต่อมเหงื่อไม่ได้รับกระแสประสาทที่ส่งมา จึงทำให้เหงื่อไม่ไหล ทั้งนี้ การรักษาด้วยวิธีการฉีดยาโบทูลินั่ม ท็อกซิน จะสามารถยับยั้งอาการเหงื่อไหลมากผิดปกติได้สูงสุดนาน 6 เดือน ขึ้นอยู่กับร่างกายของคนไข้แต่ละคน ไม่ได้เป็นการรักษาที่ให้ผลถาวร และยังมีความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจทำให้กล้ามเนื้อที่มือทำงานผิดปกติไปด้วยได้ จนทำให้ไม่สามารถใช้มือทำงานได้เหมือนเดิม
  3. รักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง ซึ่งปัจจุบันถือเป็นวิธีเดียวที่ให้ผลการรักษาดีที่สุด คือหายขาด โดยแผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็กเพียง 1 ซม. บริเวณใต้รักแร้ เมื่อแพทย์เปิดแผลแล้วจะสอดเครื่องมือเข้าไปยังบริเวณช่องอกที่มีเส้นประสาทอัตโนมัติอยู่ ซึ่งมีหน้าที่หล่อเลี้ยงการทำงานของต่อมเหงื่อ จากนั้นแพทย์จะทำการจี้ไปที่ตัวปมประสาทเพื่อลดกระแสประสาทที่มากระตุ้นให้เหมาะสม เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงปิดแผลก็ถือเป็นอันเสร็จเรียบร้อย โดยด้วยเทคนิคการผ่าตัดแผลเล็กนี้ คนไข้จะเจ็บน้อยมาก ฟื้นตัวไว และสามารถกลับบ้านไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ

เป็นอันตรายมากแค่ไหน ถ้าเหงื่อออกมือผิดปกติแล้วไม่รักษา?

ความอันตรายของภาวะเหงื่อออกมือมากผิดปกตินั้น สามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 กรณีคือ หากเป็นภาวะเหงื่อออกที่เกิดจากโรคไทรอยด์หรือโรคหัวใจ แต่คนไข้ไม่รู้ตัว การปล่อยทิ้งไว้ก็อาจทำให้ได้รับอันตรายจากโรคที่เป็นอยู่ได้ ซึ่งแน่นอนว่าถึงขั้นอาจเสียชีวิตได้ ในขณะที่หากเป็นภาวะเหงื่อออกมือผิดปกติจากระบบประสาทอัตโนมัตินั้น ในคนไข้รายที่เป็นมากๆ ก็อาจส่งผลทำให้ผิวหนังอักเสบ ตลอดจนอาจทำให้มีกลิ่นตัวที่มากผิดปกติ ทั้งนี้ สำหรับภาวะเหงื่อออกมือมากผิดปกตินั้น ถือเป็นภาวะที่ส่งผลทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของคนไข้มีปัญหา ทำให้ไม่สามารถทำงานที่ต้องใช้มือได้อย่างดีเหมือนเก่า เพราะเหงื่อที่ไหลออกมามากนั้นขัดขวางการทำงาน อีกทั้งยังทำให้เกิดผลกระทบทางจิตใจ เนื่องจากความไม่มั่นใจในการพบปะผู้คน เข้าสังคม หรือต้องจับมือกับคนอื่น ซึ่งโดยภาพรวมการปล่อยทิ้งไว้ ถือว่าจะทำให้ความสุขและคุณภาพในการใช้ชีวิตนั้นลดน้อยลงไปเรื่อยๆ นั่นเอง

เหงื่อออกมือมากผิดปกติ หรือภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติในตำแหน่งอื่น ๆ ของร่างกาย ถือเป็นสัญญาณเตือนภัย ที่อาจมีสาเหตุมาจากโรคร้าย และอาจทำลายความสุขในชีวิตเราให้ลดน้อยลงได้ง่ายๆ ถ้าไม่รีบเข้ารับการรักษา ซึ่งเพื่อให้ชีวิตของเราปลอดภัย และกลับมาเป็นปกติได้ใหม่อีกครั้ง กลับมาใช้มือในการทำงาน ในการเข้าสังคมได้อย่างมั่นใจอีกครั้ง การสังเกตอาการตัวเอง และรีบเข้ามาพบแพทย์เพื่อปรึกษา เพื่อเลือกแนวทางในการรักษาที่เหมาะสมกับรูปแบบการใช้ชีวิต ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะยิ่งเราปล่อยทิ้งไว้นานเท่าไร ความสุขและคุณภาพในการใช้ชีวิตของเราก็จะค่อยๆ ลดน้อยลงไปมากเท่านั้น

นพ.พรพีระ จิตต์ประทุม

นพ.พรพีระ  จิตต์ประทุม
ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดส่องกล้อง
ศูนย์ศัลยกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง โรงพยาบาลพญาไท 3

Start typing and press Enter to search