“เส้นเลือดขอด” นับเป็นหนึ่งในโรคที่ทุกคนน่าจะคุ้นหูและรู้จักเป็นอย่างดี ซึ่งแม้จะไม่ใช่โรคอันตรายร้ายแรงสักเท่าไร แต่ก็ไม่มีใครอยากป่วยเป็นโรคนี้แน่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสาวๆ ที่หากว่าเป็นขึ้นมาแล้วล่ะก็ นอกจากความเมื่อยล้าของขาตัวเอง และคุณภาพชีวิตที่ลดลงแล้ว ก็มักจะทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นใจ กับรอยร่างแหเล็กๆ หรือรอยปูนโปนจากเส้นเลือดขอดที่ปรากฏขึ้น แต่ถึงคุณผู้หญิงทุกคนจะหวาดกลัวและรู้สึกไม่อยากเป็นโรคนี้แค่ไหน ก็ขอให้ทำใจเผื่อเอาไว้เลยว่า เหล่าสาวๆ นั้นมีโอกาสเป็นโรคเส้นเลือดขอดได้มากกว่าผู้ชายหลายเท่า

เพราะเหตุใด ทำไมผู้หญิงจึงเป็นเส้นเลือดขอดได้ง่ายกว่า?

นายแพทย์พงษ์ตะวัน กัลยพฤกษ์ ศัลยแพทย์ทั่วไปและศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านหลอดเลือด โรงพยาบาลพญาไท 3 ได้อธิบายถึงเหตุผลว่าที่ทำให้ผู้หญิงถึงมีโอกาสเป็นเส้นเลือดขอดได้มากกว่าผู้ชาย ไว้ว่า

“เป็นเพราะฮอร์โมนเพศของผู้หญิง คือตัวการสำคัญ ที่ทำให้ตัวเลือดที่ไหลเวียนบริเวณด้านล่างของร่างกายมีปริมาณเยอะมากกว่าผู้ชาย จึงทำให้มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ง่ายกว่า อีกทั้งเมื่อร่วมกับการตั้งครรภ์การมีบุตร ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสทำให้มีโอกาสเกิดเป็นเส้นเลือดขอดได้มากยิ่งขึ้น เพราะ หลังจากตั้งครรภ์หรือในระหว่างตั้งครรภ์ เส้นเลือดขอดที่เป็นอยู่แล้วจะมีขนาดใหญ่ขึ้น เนื่องจากน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น และตัวมดลูกที่ใหญ่ขึ้นเวลามีบุตรนั้น จะไปกดเส้นเลือดดำในท้อง ทำให้ลิ้นของเส้นเลือดดำที่อยู่ภายในถูกทำให้อ้าออก ซึ่งพอเกิดเหตุแบบนี้แล้วส่วนใหญ่ ก็มักจะดำเนินต่อได้ หมายความว่าจากเดิมที่ความเสื่อมสภาพอาจจะยังไม่มาก แต่ว่าพอมีแรงดันในท้องมากขึ้นจากการตั้งครรภ์ ก็จะเกิดทำให้ระบบการไหลเวียนเส้นเลือดดำของร่างกายท่อนล่างเสื่อมสภาพลง เพราะฉะนั้นหลังจากตั้งครรภ์แล้วจึงเกิดเส้นเลือดขอดได้”

นอกจากผู้หญิงแล้วใครอีกบ้าง ที่เสี่ยงกับการเป็นเส้นเลือดขอด?

ปัจจัยสำคัญที่เป็นสาเหตุหลักของโรคเส้นเลือดขอดนั้น อยู่ที่เรื่องของ น้ำหนักตัว อายุ เพศ และอาชีพที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต โดยคนที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเส้นเลือดขอด ได้แก่

  • คนสูงอายุ เนื่องจากยิ่งอายุมาก เส้นเลือดก็ยิ่งเสื่อมสภาพ ซึ่งเพิ่มโอกาสเป็นเส้นเลือดขอดมากขึ้น
  • คนที่น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน เพราะน้ำหนักที่มากเกิน มีผลต่อแรงดันที่ทำให้เกิดเส้นเลือดขอดได้
  • คนที่ประกอบอาชีพพ่อค้าแม่ค้า ที่ต้องยืนนานๆ ทั้งวัน ไม่ได้หยุดพัก
  • ผู้หญิงที่ต้องสวมใส่ส้นสูงแล้วยืนนานๆ ทำงานที่ต้องเดินเยอะๆ

ทั้งนี้ จากสถิติพบว่า คนที่ป่วยเป็นโรคเส้นเลือดขอดในอาการรุนแรงมักจะประกอบอาชีพค้าขาย ที่ต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่กับการยืนนานๆ ส่วนรองลงมาคือคนที่ทำงานออฟฟิศ ผู้หญิงที่ต้องสวมส้นสูงทำงาน ซึ่งจะพบว่าเป็นโรคเส้นเลือดขอดในระยะแรกๆ คือ เจอเป็นเส้นเลือดขอดเส้นเล็กๆ และมีอาการปวดเมื่อยร่วมด้วย ทั้งนี้ หากสังเกตพบว่ามีอาการยืนนานและขาบวม เป็นตะคริวบ่อยๆ และมีเส้นเลือดลักษณะเป็นฝอยร่างแหเกิดขึ้น ก็ควรรีบมารับการวินิจฉัยรักษา ก่อนที่โรคจะลุกลาม ถึงขั้นกลายเป็นเส้นเลือดขอดขนาดใหญ่ปูนโปน ปะทุเกิดเป็นแผลเรื้อรัง และขาบวม เปลี่ยนสีเป็นสีดำน้ำตาลเข้ม ซึ่งหากถึงขั้นนั้น จะเป็นอันตรายและรักษาหายยาก

ใช้ชีวิตอย่างไร ให้ห่างไกลจากเส้นเลือดขอด?

การป้องกันไม่ให้เป็นโรคเส้นเลือดขอดนั้น เราจำเป็นต้องมองย้อนกลับไปถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเส้นเลือดขอดขึ้น ซึ่งหลักๆ ก็เกิดจากพฤติกรรมในการทำงานอันขึ้นอยู่กับอาชีพ ดังนั้น ถ้าจะบอกว่าจะหลีกเลี่ยงเส้นเลือดขอดได้อย่างไร แบบตรงไปตรงมาสุด คือ หลีกเลี่ยงการประกอบอาชีพที่ต้องยืนนานๆ เดินนานๆ ทั้งวัน หลีกเลี่ยงอาชีพที่ต้องใช้ขาเยอะๆ แต่ถ้าไม่สามารถเปลี่ยนอาชีพได้ วิธีต่อมาก็คือต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง คือยืนให้น้อยลง เดินให้น้อยลง ให้ขาได้หยุดพักบ้าง รวมไปถึงการควบคุมอาหาร ควบคุมน้ำหนักตัว ไม่ให้เกินมาตรฐาน ก็จะช่วยลดโอกาสในการเกิดเส้นเลือดขอดได้ และสุดท้ายคือการหมั่นออกกำลังกายบ้าง เพราะว่าถ้ากล้ามเนื้อช่วงขาเราแข็งแรงขึ้น ก็จะช่วยปั๊มเลือดให้ไหลเวียนได้ดีขึ้น ซึ่งมีผลในการช่วยป้องกันเราจากเส้นเลือดขอดได้

“ออกกำลังกายเป็นประจำ ควบคุมน้ำหนักให้ได้มาตรฐาน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่เดิน ไม่ยืนทั้งวันนาน
คือแนวทางสู่การเป็นผู้หญิงยุคใหม่ ที่ห่างไกลเส้นเลือดขอด”

นพ.พงษ์ตะวัน กัลยพฤกษ์

นพ.พงษ์ตะวัน  กัลยพฤกษ์

ศัลยแพทย์ทั่วไปและศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านหลอดเลือด
ศูนย์ศัลยกรรมชั้นสูง โรงพยาบาลพญาไท 3

ติดต่อสอบถาม

    ชื่อ

    นามสกุล

    Email

    เบอร์โทร

    ข้อความ

    Start typing and press Enter to search