รีบทานอาหารหลังจากอดมานาน เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต!

หลังจากที่ทุกคนรอคอยและลุ้นด้วยความหวังมานานกว่า 10 วันกับภารกิจค้นหาเด็กๆทีมหมูป่าอะคาเดมี่ที่หายเข้าไปในถ้ำ ในที่สุดทีมกู้ภัยก็ได้สร้างความดีใจให้กับผู้คนทั่วโลกที่เฝ้าติดตามข่าวการค้นพบเด็กๆทั้ง13คนแล้ว

อย่างไรก็ตาม ภารกิจต่อไปคือการช่วยเหลือและฟื้นฟูร่างกายพวกเขาให้แข็งแรง อันเป็นภารกิจที่สำคัญไม่แพ้กัน จึงเกิดการตั้งคำถามขึ้นมาว่า

Q: จะต้องฟื้นฟูอย่างไร เจอเด็กๆแล้วให้ทานอาหารเลยได้มั้ย?

A:  สำหรับผู้ที่ผ่านการอดอาหารมานานหลายวัน อย่างเช่นในเคสนี้ ควรได้รับการดูแลจากทีมแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากการฟื้นฟูในขั้นตอนแรกนั้นสำคัญมาก และจะต้องเป็นไปอย่างระมัดระวังเพื่อมิให้เกิดภาวะอันตรายถึงแก่ชีวิตได้จากภาวะ Refeeding Syndrome

เนื่องมาจากภาวะการขาดสารอาหารเป็นระยะเวลานาน จะทำให้ร่างกายพร่องสารอาหารและเกลือแร่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หากได้รับอาหารเพิ่มพลังงานมากๆในวันแรก ร่างกายจะถูกกระตุ้นให้หลั่งอินซูลินออกมาจำนวนมากเพื่อนำพาน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่เซลล์ตามกระบวนการปกติ แต่เนื่องด้วยกระบวนการเหล่านี้และการหลั่งอินซูลินนั้นจำเป็นที่จะต้องอาศัยเหล่าบรรดาเกลือแร่ที่อยู่ในเลือด เช่น ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม โพแทสเซียม แคลเซี่ยม และวิตามินบี1 เป็นตัวช่วยในกระบวนการ จึงส่งผลให้เกลือแร่ในเลือดซึ่งลดลงมากอยู่แล้วจากการขาดสารอาหารยิ่งลดลงอย่างทวีคูณ เกิดภาวะขาดเกลือแร่อย่างรุนแรง อันนำมาซึ่งภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะถึงเสียชีวิตได้

ดังนั้นการดูแลควรจะเริ่มด้วยการตรวจเช็คปริมาณเกลือแร่ในเลือดเพื่อประเมินความเสี่ยงของภาวะ Refeeding syndromeจากนั้นจึงให้รับประทานหรือฉีด วิตามินB1, วิตามินBรวม, หรือ วิตามินรวม ก่อนที่จะเริ่มให้สารอาหารซึ่งไม่ว่าจะเป็นการให้ทางปากหรือทางเส้นเลือดโดยจะเริ่มด้วยพลังงานเพียงประมาณ25%จากปกติ และค่อยๆเพิ่มพลังงานมากขึ้นอย่างระมัดระวังใน4-7วัน รวมถึงคอยตรวจเช็คปริมาณเกลือแร่เป็นระยะๆจึงจะปลอดภัย

อดอาหารนาน รับมืออย่างไรดี ให้ร่างกายฟื้นตัว

เมื่อร่างกายขาดอาหาร ย่อมส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ อย่างแน่นอน ซึ่งผลกระทบที่เกิดนั้น ขึ้นอยู่กับว่าร่างกายขาดอาหารอย่างไร ขาดอาหารเพราะลดน้ำหนักมุ่งหวังร่างกายที่ผอมเพรียว แต่ยังรับประทานเครื่องดื่มเกลือแร่ ผักผลไม้อยู่ หรืออีกกรณีคือ อดอาหารเพราะภาวะจำเป็น

เมื่อร่างกายไม่ได้รับสารอาหาร จะเป็นอย่างไร

เมื่อร่างกายเราไม่สามารถได้รับสารอาหารตามจำนวนที่จำเป็นในแต่ละวัน ผลที่ตามมาคือ อวัยวะภายในจะมีการปรับตัวอันดับแรกคือน้ำตาลในกระแสเลือด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลูโคสจะถูกดึงนำมาใช้เป็นพลังงาน

กลูโคส เป็นสารอาหารในหมู่คาร์โบไฮเดรต ประเภทน้ำตาลเชิงเดียว/โมเลกุลเดียวจะมีมากในผักผลไม้ ในภาวะที่ร่างกายอดอาหาร อวัยวะในส่วนอื่นๆ จะต้องแบ่งกลูโคสไปให้สมอง ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญที่สุดของร่างกายที่ต้องได้รับกลูโคสตลอดเวลา

Did You Know :  โดยปกติสมองใช้กลูโคสเป็นพลังงานในอัตรา 5.6 Mg/น้ำหนักสมอง 100g/นาที

ถ้าเป็นการอดอาหารเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ ไม่เกิน 1สัปดาห์ และดื่มน้ำสะอาดอย่างเดียวร่างกายต้องปรับการทำงานอย่างหนักเพื่อให้ได้พลังงานมาทดแทน แต่หากดื่มน้ำผสมอาหารเสริมตลอดเวลา ผลกระทบต่อร่างกายที่อาจเกิดจากการอดอาหารจะแสดงอาการเด่นชัดเท่าไรนัก แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับบรรยากาศและอุณหภูมิรอบร่างกาย อากาศร้อนจัดทำให้เสียเหงื่อมาก เสียเกลือแร่ และยิ่งไม่ได้พลังงานมาชดเชยก็ส่งผลให้ร่างากายอ่อนเพลียลงได้รวดเร็ว แต่หากอยาในอุณหภูมิเย็นจัดและร่างกายไม่ได้รับความอบอุ่นเพียงพอ ร่างกายต้องเผาผลาญอาหารสะสมในร่างกายให้เกิดเป็นพลังงานต่อต้านความหนาวมากขึ้น

ข้อควรระวังสำหรับภาวะการณ์อดอาหาร

การอดอาหารที่นานจนเกินไป แล้วร่างกายเผาไหม้ไขมันเป็นพลังงานมากเกินไปจะก่อให้เกิดการคั่งของสารประเภทคีโตน (KETONE BODIES) ซึ่งสารตัวนี้เมื่อมีอยู่มากเกินไปจะกลายเป็นพิษต่อร่างกายและอันตรายจะเพิ่มทวีคูณขึ้นเมื่อมีการดึงเอาโปรตีนจากโครงสร้างเนื้อเยื่อต่างๆ เช่นกล้ามเนื้อมาเผาผลาญเพื่อให้ได้พลังงาน และจะรู้สึก อ่อนเพลีย เหนื่อย มีความรู้สึกหดหู่เศร้าสร้อย  เส้นผมแห้งและร่วง ตาลึก ดวงตาไม่วาวเพราะน้ำหล่อเลี้ยงตาน้อย กระดูไหปลาร้าและลำตัวจะเด่นชัด ผิวหนังแห้งและหยาบ กล้ามเนื้อชา ระบบภูมิคุ้มกันสูญเสีย ระบบทางเดินหายใจบกพร่อง ชีพจรเต้นช้าและเบา แต่ยังคงเต้นเป็นจังหวะดี ฟังได้ชัดเจนเพราะเนื้อหุ้มกระดูกซี่โครงบางลง

สนับสนุนข้อมูลโดย
พ.ญ.เมธชนัน เลิศชุณหะเกียรติ

Start typing and press Enter to search