สิ่งที่ผู้ดูแลควรทราบคือ “ผู้สูงอายุ”  ยังมีความต้องการสารอาหารประเภทโปรตีนไม่ลดน้อยลงไปจากวัยหนุ่มสาว บางครั้งอาจจะต้องการเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ ซึ่งผู้สูงอายุควรได้รับโปรตีน 1-1.2 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวันจึงจะเพียงพอต่อความต้องการ (มีโรคประจำอื่นๆ เช่นโรคไต โรคตับ ต้องปรึกษานักกำหนดอาหารเพื่อคำนวณโปรตีนรายบุคคลให้เหมาะสม) ยิ่งไปกว่านั้นหากร่างกายผู้สูงอายุมีความเครียด ได้รับบาดเจ็บ ติดเชื้อ  หรืออยู่ในช่วงรักษาตัวจากการผ่าตัด ความต้องการสารอาหารประเภทโปรตีนก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นตาม

ทำไม “โปรตีน” ถึงสำคัญต่อ “ผู้สูงอายุ”

โปรตีนถือเป็นสารอาหารหลักที่มีความสำคัญต่อผู้สูงอายุ  เนื่องจากโปรตีนเป็นสารอาหารที่ช่วยให้เรื่องของการสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง อีกทั้งยังช่วยส่งผลให้กล้ามเนื้อกระชับเพิ่มความแข็งแรงให้กระดูก และช่วยให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น  การที่ผู้สูงอายุได้รับสารอาหารประเภทโปรตีนอย่างเพียงพอจะช่วยให้ผู้สูงอายุมพลังมากขึ้นทำให้รู้สึก สดชื่นกระปรี้กระเปร่า  และทำให้การทำงานของกลไกต่างๆ ของร่างกายทำงานอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากเอนไซม์ต่างๆ ในร่างกายล้วนประกอบด้วยโปรตีน

นอกจากนี้ โปรตีนยังช่วยรักษามวลกล้ามเนื้อให้แข็งแรง ป้องกันภาวะกล้ามเนื้อลีบ และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย ผู้สูงอายุที่ได้รับโปรตีนไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายมักจะอ้วนได้ง่ายกว่าผู้สูงอายุที่รับประทานโปรตีนอย่างเพียงพอ เนื่องจากโปรตีนมีส่วนช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้สูงอายุคงที่ ทำให้ไม่รู้สึกหิวง่าย ช่วยให้ผู้สูงอายุควบคุมการกินและควบคุมน้ำหนักได้

หากผู้สูงอายุขาดโปรตีนอะไรจะเกิดขึ้น

ดังที่กล่าวมาข้างต้น โปรตีนมีส่วนช่วยรักษามวลกล้ามเนื้อให้แข็งแรง เพราะส่วนสำคัญในการเคลื่อนไหวร่างกายไม่ใช่แค่กระดูกไขข้อ เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่บังคับให้ร่างกายเคลื่อนไหวซึ่งสำคัญไม่แพ้กัน ดังนั้นการสูญเสียกล้ามเนื้อเมื่ออายุมากขึ้นอาจทำให้มีปัญหาในการเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และบาดเจ็บ เมื่อเกิดการบาดเจ็บร่างกายจะใช้เวลานานในการฟื้นฟูร่างกายให้เป็นปกติ

แหล่งอาหารที่มาของโปรตีนที่เหมาะกับผู้สูงอายุ

เป็นที่ทราบกันดีว่าโปรตีนมีอยู่มากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเนื้อสัตว์ นม และไข่ แต่เรามักพบว่าผู้สูงอายุบริโภคเนื้อสัตว์ในมีปริมาณลดลงเนื่องจากลักษณะรสสัมผัสของเนื้อสัตว์ที่เหนียว  เคี้ยวยาก รับประทานลำบาก ทำให้ผู้สูงอายุเลือกที่จะหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ ดังนั้นโอกาสที่ผู้สูงอายุได้รับโปรตีนจึงลดลงไป จึงขอแนะนำให้เตรียมอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่มีรสสัมผัสอ่อนนุ่ม ไม่ติดหนังหรือไขมันมากเกินไป

-เนื้อปลา เป็นแหล่งโปรตีนที่ดีมากเหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากเนื้อนุ่มและย่อยง่าย แต่ควรเลือกนำส่วนกระดูกและก้างออกทั้งหมดก่อนนำมารับประทาน

ไข่ อีกหนึ่งอาหารที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากมีคุณค่าทางอาหารสูง ซึ่งในไข่หนึ่งใบประกอบไปด้วยไข่แดง ซึ่งมีธาตุเหล็กในปริมาณสูงสามารถรับประทานได้ 1 ฟองต่อวัน ในกรณีที่ผู้สูงอายุที่มีปัญหาไขมันในเลือดสูง ความดันสูง โรคเบาหวาน หรือผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด สามารถบริโภคไข่ไก่ได้ 3 ฟอง/สัปดาห์

นม / น้ำเต้าหู้ เป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง อีกทั้งยังมีแคลเซียมในปริมาณมาก  ผู้สูงอายุควรดื่มวันละ 1 แก้ว แต่ในผู้สูงอายุที่มีไขมันในเลือดสูงหรือน้ำหนักตัวมาก แนะนำให้ดื่มเป็นนมพร่องมันเนยหรือนมถั่วเหลืองน้ำตาลน้อย

ธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง เป็นอาหารที่มีสารอาหารโปรตีนสูงเช่นกัน อีกทั้งยังมี วิตามินต่างๆ ใยอาหาร รวมถึงสารต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย ผู้ดูแลสามารถเตรียมประเภทถั่ว แทนอาหารพวกเนื้อสัตว์ได้ในบางมื้อ เพื่อลดความจำเจของอาหาร  การที่ผู้สูงอายุรับประทานอาหารชนิดเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ไม่หลากหลาย จะทำให้เบื่ออาหารได้ง่ายขึ้น และได้สารอาหารไม่ครบถ้วน

ข้อระวังในการรับประทานโปรตีนในผู้สูงอายุ

สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาโรคไขมันในเลือดสูงและโรคความดันโลหิตสูงควรระวังการได้รับโปรตีนจากเนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดหนังมัน กุนเชียง หมูยอ และไม่ควรรับประทานเนื้อสัตว์หรือโปรตีนในปริมาณมากก่อนนอนเพราะจะทำให้ไม่สบายท้องและนอนไม่หลับ นอกจากนี้การรับประทานโปรตีนจำนวนมากเกินไปจะเกิดผลเสียต่อร่างกาย โดยมีผลให้การทำงานของไตมากขึ้น เนื่องจากในผู้สูงอายุ การทำงานของไตจะลดลงมากกว่าร้อยละ 50 เมื่อเปรียบเทียบกับวัยหนุ่มสาว  แต่การขาดโปรตีนในผู้สูงอายุเป็นสาเหตุหนึ่งในการทำให้เกิดอาการบวม คันผิวหนัง, อ่อนเพลีย และมีภูมิต้านทางลดลง เช่นกัน  ดังนั้นทางเลือกที่ดีคือควรรับประทานโปรตีนในปริมาณที่พอเหมาะร่วมกับสารอาหารอื่นๆ ในมื้ออาหารทุกมื้อ

นอกจากนี้ผู้ดูแลควรดูแลให้ผู้อายุทำกิจกรรมต่างๆ เป็นประจำเพื่อให้ผู้สูงอายุได้เคลื่อนไหวร่างกาย  มีการออกกำลังกายที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของร่างกาย อยากอาหาร รวมทั้งช่วยชะลอการฝ่อของกล้ามเนื้อได้อีกทางด้วย

ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ (ไม่เสียค่าใช้จ่าย)

    ชื่อ

    นามสกุล

    Email

    เบอร์โทร

    ข้อความ

    Start typing and press Enter to search