พ่อแม่บางรายที่มีลูกน้อยในวัยกำลังพูด อาจกำลังกังวลกับปัญหาการพูดของลูกน้อยอยู่ เนื่องจากความต้องการทุนเดิมของคุณพ่อคุณแม่ หลาย ๆ ท่านมีความคาดหวังที่จะได้ยินเสียงพูดของลูกน้อยเร็ว ๆ แต่เมื่อมาเจอกับลูกเพื่อนในวัยเดียวกันที่สามารถพูดได้แล้วก็อาจเก็บมาเปรียบเทียบกับลูกของตัวเองที่ยังไม่ค่อยยอมพูด พูดช้า พูดไม่เป็นคำ หรือพูดไม่มีความหมาย จึงเกิดความกังวลว่าอาการที่ลูกน้อยของเราเป็นอยู่นั้นมีผิดปกติหรือไม่

ปัญหาลูกพูดช้านอกจากเกี่ยวข้องกับพัฒนาการแล้ว ยังอาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติอื่น ๆ เช่น โรคเกี่ยวกับสมอง หรือเด็กที่มีสติปัญญาบกพร่อง กลุ่มนี้อาจมีเรื่องพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อช้าร่วมด้วย รวมถึงเด็กออทิสติก

พ่อแม่จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกพูดช้าผิดปกติหรือไม่

วิธีที่จะสังเกตว่าลูกน้อยของคุณพูดช้าหรือไม่ดูได้จาก 2 จุด  คือ ลูกเข้าใจภาษาหรือไม่ และลูกใช้ภาษาอย่างไร

โดยปกติเมื่อเด็กอายุประมาณ 15 เดือน คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตว่าเจ้าตัวน้อยของคุณออกเสียงพูดที่มีความหมายบ้างหรือไม่ เช่น “หม่ำๆ” เวลาหิว หรือในกรณีที่พยายามสื่อสารหรือชวน เช่น “ปะๆ”  ซึ่งในส่วนของความเข้าใจภาษา คือ เด็กควรจะเริ่มหันมอง ชี้ของที่อยากได้ หรือสิ่งที่ตนเองสนใจได้ แต่หากอายุ 15 เดือนแล้วยังไม่พูดคำที่มีความหมายเลย ไม่ตอบสนองกับคำถามง่าย ๆ แบบนี้ให้คุณพ่อ คุณแม่สงสัยว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น

อีกวิธีการสังเกตหนึ่งคือการสังเกตล่วงหน้าในช่วงเด็กมีอายุ 6 – 9 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กสามารถรับรู้หรือสื่อสารได้ เช่น เล่นจ๊ะเอ๋! หรือเล่นหัวเราะกับคนอื่นได้ หากไม่ยอมเล่นหรือทำตามคำสั่งง่าย ๆ เพราะไม่เข้าใจ ลักษณะนี้คุณพ่อคุณแม่เริ่มสงสัยได้เลยว่าอาจมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น

ลูกพูดช้าระดับไหนถึงควรพาไปพบแพทย์

– อายุ 18 เดือน : ลูกน้อยยังไม่ยอมทำตามคำสั่ง หรือไม่เข้าใจ
– อายุ 2 ขวบ : ลูกน้อยยังพูดไม่เป็นคำที่มีความหมาย
– อายุ 2 ขวบ 6 เดือน : ลูกน้อยยังไม่สามารถพูดเป็นคำ 2 คำติดกันได้ หรือเป็นกลุ่มคำ
– อายุ 3 ขวบ : ลูกน้อยยังไม่สามารถพูดเป็นประโยคได้

การรักษาให้ลูกพูดได้ต้องทำอย่างไร

เมื่อรู้สึกว่าลูกน้อยมีความผิดปกติ แนะนำคุณพ่อคุณแม่ให้พาลูกน้อยมาพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์ทำการตรวจร่างกายก่อนว่ามีความผิดปกติทางร่างกายหรือไม่ ถ้าผลออกมาปกติ จึงทำการประเมินพัฒนาการในแต่ละด้านต่อไป เช่น “พัฒนาการด้านการได้ยิน” รียกแล้วหันหรือไม่ ชอบมองหน้าหรือปาก เมื่อต้องการสื่อสาร หรืออาจจะเล่นเสียงดัง เพราะว่าไม่ได้ยิน วิธีการช่วยเหลือ คือ พบแพทย์เฉพาะทางด้านหู คอ จมูก เพื่อตรวจการได้ยินและเข้ารับการบำบัดกับทีมสหวิชาชีพ (กายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด อรรถบำบัด) เพื่อฝึกพูดต่อไป โดยทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับภาวะที่เด็กเป็นและดุลยพินิจของแพทย์ ในเด็กบางรายอาจต้องใช้ยารักษาร่วมด้วยหากพบว่ามีปัญหาด้านอารมณ์ มีพฤติกรรมก้าวร้าวหรืออยู่ไม่นิ่ง

แต่ในกรณีที่ลูกน้อยพูดช้าเพราะสาเหตุอื่น เช่น โรคทางสมอง พัฒนาการบกพร่อง อย่างในกรณีของเด็ก

ออทิสติกที่มีทักษะด้านสังคมบกพร่อง เด็กจำเป็นต้องได้เข้ารับการรักษาโดยการปรับให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นมากขึ้น เด็กต้องเข้ารับการฝึกกระตุ้นพัฒนาการหรือกิจกรรมบำบัดผ่านกิจกรรมต่าง ๆ และเฝ้าติดตามผลอย่างต่อเนื่องเพื่อให้อย่างน้อยที่สุดเด็กสามารถช่วยเหลือตนเองได้

ลูกพูดช้าอาจมาจากพ่อแม่พูดกับเด็กน้อยเกินไป

เมื่อลูกน้อยขาดการกระตุ้นทางภาษา กรณีเช่นนี้อาจเกิดจากคุณพ่อ คุณแม่พูดหรือสื่อสารกับเด็กน้อยเกินไป หรือทำอะไรให้เขามากเกินไป รู้ใจลูกไปหมดทุกอย่าง ทำให้เด็กไม่ต้องร้องขอ เด็กจึงไม่มีโอกาสพูด ทำให้เด็กขาดทักษะในการกระตุ้นทางภาษา รวมไปถึงคุณพ่อ คุณแม่มักจะเข้าใจผิด เปิดทีวีให้ลูกดูเพื่อให้เขาอยู่นิ่ง ๆ กับที่ แต่ความเป็นจริงแล้วทั้งทีวี โทรศัพท์มือถือมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ซึ่งหากเด็กอยู่กับสิ่งเหล่านี้มากจนเกินไป มีความเสี่ยงทำให้ เด็กยิ่งพูดช้าเพราะไม่จำเป็นต้องสื่อสารกับคนอื่น ขณะเดียวกันอย่างเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กมีอาการสมาธิสั้น อีกด้วย

3 วิธีง่าย ๆ ช่วยกระตุ้นให้ลูกน้อยพูด

  1. คุณพ่อ คุณแม่พยายามพูดคุยกับลูกให้มากขึ้น ถามตอบสั้น ๆ โดยใช้คำที่ง่ายและสั้น แล้วชื่นชมลูกเมื่อลูกให้ความร่วมมือ
  2. ไม่ปล่อยลูกน้อยไว้กับโทรทัศน์หรือโทรศัพท์มากเกินไป
  3. ควรให้ลูกทำกิจกรรม เช่น พูดในสิ่งที่ลูกสนใจ เล่านิทาน และดูรูปภาพ ซึ่งพ่อแม่ควรดูแลอย่างใกล้ชิด

ศูนย์สุขภาพเด็ก รพ.พญาไท 3 ชั้น 4
โทร.02-467-1111 ต่อ 3419 และ 3420

ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ (ไม่เสียค่าใช้จ่าย)

    ชื่อ

    นามสกุล

    Email

    เบอร์โทร

    ข้อความ

    Start typing and press Enter to search