เนื่องด้วย “เส้นเลือดขอด” เป็นโรคที่คนทั่วไปอาจรู้สึกว่าไม่ได้เป็นอันตรายอะไรมากนัก ทำให้มักจะชะล่าใจปล่อยโรคทิ้งไว้โดยไม่รีบไปรับการรักษา ก่อให้เกิดการลุกลามของโรคที่ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง คือนอกจากอาการปวดเมื่อยขาบวมที่ทำให้การใช้ชีวิตลำบากขึ้นแล้ว ก็ยังส่งผลให้เกิดแผลเรื้อรังในระยะท้ายโรค ซึ่งทั้งรอยแผลและรอยคดเคี้ยวของเส้นเลือดขอดนั้นยิ่งปล่อยไว้นานไปก็ยิ่งหายยาก ดังนั้น การรีบรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพื่อให้เราได้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกลับมา พร้อมกับความมั่นใจในเรียวขาที่ไร้ร่องรอยแผล รอยคดเคี้ยวปูดโปน

แนวทางการวินิจฉัย วางแผนการรักษาอย่างไรเมื่อเป็นเส้นเลือดขอด?

โดยปกติแล้วหากพบว่ามีอาการที่สังเกตเห็นได้เลยด้วยตาเปล่า ว่ามีรอยเส้นเลือดบริเวณที่ขา และมีอาการปวดเมื่อย หรืออาการบวมร่วมด้วยนั้น แพทย์จะทำการวินิจฉัยด้วยการอัลตร้าซาวด์ เพื่อดูบริเวณที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดรอยคดเคี้ยวของเส้นเลือดขอดขึ้น เพื่อระบุตำแหน่งให้ชัดเจน อันนำไปสู่การวางแผนการรักษาต่อไป ซึ่งสำหรับวิธีการรักษานั้น ก็สามารถทำได้หลายวิธี อาทิ การปรับการดำรงชีวิตประจำวัน  การฉีดยา การผ่าตัด โดยจะเลือกใช้วิธีใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับอาการของโรคและดุลยพินิจของแพทย์

รักษาอย่างไร เมื่อวินิจฉัยแล้วว่าเป็นเส้นเลือดขอด?

สำหรับวิธีการรักษาโรคเส้นเลือดขอดนั้น นายแพทย์พงษ์ตะวัน กัลยพฤกษ์ ศัลยแพทย์ทั่วไปและศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านหลอดเลือด ได้อธิบายถึงกระบวนการในการรักษาเอาไว้เป็นภาพรวมเพื่อง่ายต่อการเข้าใจว่า

“คือจริงๆ วิธีหลักๆ แล้ว ในอันดับเริ่มต้น เราอาจจะแนะนำให้คนไข้ดูแลเรื่องของชีวิตประจำวันของตัวเองก่อน ก็คือถ้าหากประกอบอาชีพที่ต้องยืนนานๆ เดินนานๆ ก็จะแนะนำให้พยายามปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวันก่อน แล้วก็ร่วมกับการที่หากมีน้ำหนักตัวเยอะ หรือน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน เราก็จะต้องแนะนำให้ลดน้ำหนัก

แล้วขั้นต่อไปก็คืออาจจะใช้อุปกรณ์ที่ช่วยกระชับเส้นเลือดดำที่ขาร่วมด้วย ซึ่งเรียกว่า “ถุงน่องสำหรับเส้นเลือดขอด” หรือถ้าในกรณีหากตรวจเจอว่า

อาการเส้นเลือดขอดเป็นเยอะ คืออยู่ในระยะท้ายๆ ของโรคแล้ว ตรวจดูแล้วพบว่ามีบริเวณที่เป็นเส้นเลือดขอดที่มีขนาดใหญ่ ก็จะแนะนำให้รักษาด้วยวิธีการผ่าตัด โดยใช้อุปกรณ์พิเศษ ที่เป็นสายสวนคลื่นวิทยุความถี่สูง ซึ่งมาทดแทนการผ่าตัดแบบเดิม ทำให้มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่า คือมีแผลเล็ก เจ็บน้อย ทำให้นอนโรงพยาบาลใช้เวลาสั้น ฟื้นตัวไว เพียงวันเดียวก็สามารถกลับบ้านได้เลย และส่วนใหญ่ภายในไม่เกินสองวัน ก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตและทำงานได้ตามปกติ

แบบเดิม Vs แบบใหม่ ผ่าตัดแบบไหนรักษาเส้นเลือดขอดได้ดีกว่า ?

ปัจจุบันการผ่าตัดรักษาโรคเส้นเลือดขอดนั้นพัฒนาไปมาก ตามเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้น ประกอบกับความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของแพทย์ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ ในการผ่าตัดแบบเดิมนั้น แพทย์จะต้องเข้าไปทำการผ่าตัดจัดการตัดและผูกแก้ไขบริเวณเส้นเลือดที่เป็นต้นตอของโรค ซึ่งจะอยู่บริเวณช่วงโคนขาหนีบ อันเป็นหนึ่งในบริเวณที่สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วยได้มากที่สุดบริเวณหนึ่ง ทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดแผลอักเสบติดเชื้อได้ง่ายด้วย เนื่องจากบริเวณโคนขาหนีบนั้นมีโอกาสเกิดการอับชื้นได้ง่าย อีกทั้งการผ่าตัดบริเวณโคนขาหนีบ แพทย์จะต้องดึงเส้นเลือดที่เป็นสาเหตุของโรคออกมา โดยจะต้องดึงตั้งแต่โคนขาหนีบไปถึงบริเวณใต้เข่า ซึ่งนับว่าเป็นระยะทางที่ยาวพอสมควร จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้เกิดความบอบช้ำของเนื้อเยื่อบริเวณต้นขานั่นเอง จึงทำให้การผ่าตัดแบบเดิมสร้างความเจ็บปวดให้กับคนไข้ ต้องใช้เวลาพักฟื้นนาน ฟื้นตัวช้า ต่างกันโดยสิ้นเชิงกับการ ผ่าตัดแบบใหม่ ที่โรงพยาบาลพญาไท 3 ใช้ โดยเป็นอุปกรณ์ผ่าตัดแบบคลื่นวิทยุความถี่สูง โดยจะเจาะเข็มเข้าไปในบริเวณท่อนขาส่วนล่างตั้งแต่ใต้เข่าลงมา เป็นแค่เข็มเจาะเหมือนเราแทงน้ำเกลือ แล้วจากนั้นก็ใส่อุปกรณ์เข้าไป โดยใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์นำทาง ใส่เข้าไปบริเวณที่โคนของเส้นเลือด แล้วปิดเส้นเลือดที่มีปัญหาจากด้านใน เพราะฉะนั้น จึงทำให้มีแผลเฉพาะแค่ส่วนขาท่อนล่าง แล้วก็เป็นเพียงแค่รอยรูเข็มเจาะ ซึ่งก็จะเป็นแผลเล็กๆ ทำให้ฟื้นตัวเร็ว ไม่เจ็บแผล ทำให้กลับไปใช้ชีวิตทำงานปกติได้เร็ว และบริเวณที่เป็นเส้นเลือดขอดขนาดใหญ่จะค่อย ๆ ยุบลงและขาจะค่อย ๆ มีลักษณะดีเหมือนเดิม

หลังผ่าตัดเส้นเลือดขอดไป จะกลับมาเป็นใหม่ได้อีกหรือเปล่า?

ภายหลังการผ่าตัดเส้นเลือดขอดเสร็จสิ้นแล้ว ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำในการใช้ชีวิต เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตไม่ให้เสี่ยงกลับมาเป็นโรคเส้นเลือดขอดได้อีก ร่วมกันไปกับการ “สวมถุงเท้า” ที่ใช้สำหรับการรักษาโรคเส้นเลือดขอดโดยเฉพาะ ซึ่งการสวมใส่ถุงเท้ารักษาเส้นเลือดขอดนี้ จะเป็นการป้องกันไม่ให้เส้นเลือดส่วนที่เป็นแขนงของเส้นเลือดใหญ่เกิดขยายใหญ่ขึ้นมาได้ เพราะว่าเวลาที่เราเป็นเส้นเลือดขอดนั้น นั่นหมายความว่าระบบเส้นเลือดดำโดยรวมทั้งหมดของเรามีความเสื่อมสภาพ ซึ่งก็มีโอกาสที่นานวันไป เราอาจเกิดเส้นเลือดขอดใหม่ในบริเวณเส้นเลือดดำจุดอื่นได้อีก ด้วยเหตุนี้เอง ผู้ป่วยเส้นเลือดขอดจึงควรจะสวมถุงเท้ารักษาเส้นเลือดขอดต่อเนื่องหลังการผ่าตัด ซึ่งลักษณะของถุงเท้านี้ก็จะมีความแน่นกระชับกว่าถุงเท้าทั่วไป เป็นถุงเท้าเฉพาะต้องซื้อที่โรงพยาบาล หรืออาจไปซื้อเองตามร้านค้าร้านขายขาข้างนอกก็ได้ แต่ว่าอาจจะต้องดูดีๆ ว่า เป็นถุงเท้าเฉพาะรักษาเส้นเลือดขอดจริงไหม? เพราะถ้าไม่ใช่ ความรัดแน่นไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ก็ไม่มีประโยชน์ ช่วยรักษาช่วยป้องกันอะไรไม่ได้

ถ้าไม่ผ่าตัดรักษา ก็ต้องฉีดยาสลายเส้นเลือดขอดได้

เนื่องจากเส้นเลือดขอดนั้นมีหลายระดับอาการ หลายระดับความรุนแรง เพราะฉะนั้น ในกรณีที่อาการของเส้นเลือดขอดไม่รุนแรงมาก คือเป็นเส้นเลือดขอดเส้นเล็กๆ ที่ดูเหมือนเป็นร่างแหของเส้นเลือด เหมือนใยแมงมุมเล็กๆ อาจไม่จำเป็นต้องถึงขั้นรักษาด้วยการผ่าตัด แต่สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาฉีดเข้าไปในบริเวณเส้นเลือดขอดนี้โดยตรง เพื่อให้ยาไประคายเคืองเยื่อบุภายใน และทำให้เส้นเลือดขอดนั้นจางหายไปได้ โดยการรักษาเส้นเลือดขอดด้วยวิธีฉีดยานี้ คนไข้จะไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล เพราะเพียงฉีดยาเข้าไปแล้วใช้ผ้ายืดพันไว้ ให้ยากับเส้นเลือดสัมผัสกันดีก็สามารถกลับบ้านได้ แล้วจากนั้นประมาณ 2-3 วัน รอยเส้นเลือดขอดก็ค่อยๆ จางไป แต่ทั้งนี้จะหายได้มากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับอาการของโรคเป็นสำคัญว่า รุนแรงและอยู่ในระดับไหน

รู้ว่าเป็นควรรีบมา รีบรักษา ให้ขาเราหายดี

โดยทั่วไปแล้วถ้าไม่ปรากฏรอยเส้นเลือดขอดให้เห็น บางทีเราก็จะไม่ทราบเลยว่า ตัวเองเป็นเส้นเลือดขอดหรือเปล่า ดังนั้น จึงควรหมั่นสังเกตตัวเองให้ดีว่า หากมีอาการปวดเมื่อยที่ขา หรือมีอาการขาบวมเป็นตะคริวบ่อยๆ ปวดตึงน่องบ่อยๆ เมื่อยืนนานๆ ก็ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย ว่าแท้จริงแล้วเป็นเส้นเลือดขอดไหม เพื่อถ้าพบว่าเป็นจะได้รักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จะได้หายไว เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ มารักษาตอนเป็นมากแล้ว คือมีอาการแสดงให้เห็นเป็นเส้นเลือดคดเคี้ยวปูดโปนแล้ว ก็จะต้องผ่าตัด รักษายาก หรือหากยิ่งปล่อยไว้ ระยะโรคก็จะยิ่งบานปลาย ซึ่งหากปล่อยไปถึงขั้นมีแผลเรื้อรัง ผิวหนังที่ขาเปลี่ยนไปเป็นสีเข้ม และแข็งกระด้างขึ้น ก็จะยิ่งรักษายากมากขึ้น แถมเสี่ยงอันตรายที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยในกรณีที่เกิดแล้วร้ายแรงที่สุด ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่อยากให้เกิดที่สุดเลยก็คือ เกิดลิ่มเลือดบริเวณแถวๆ เส้นเลือดขอดแล้วลามเข้าไปในเส้นเลือดดำใหญ่ เกิดหลุดลอยเข้าไปที่หัวใจหรือที่ปอด แล้วเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตก็สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งถึงแม้จะพบได้ไม่บ่อยนัก แต่ว่าเราก็คงไม่มีใครอยากให้เกิดแบบนั้น

“สังเกตอาการเส้นเลือดขอดให้ดี อย่ารอรี รู้แล้วควรรีบรักษา เพราะยิ่งปล่อยไว้ก็ยิ่งหายยากยิ่งใช้เวลา
อย่าใจชะล่า ให้รอยเล็กๆ ที่ขานำพาชีวิตให้พังทลาย”

นพ.พงษ์ตะวัน กัลยพฤกษ์

นพ.พงษ์ตะวัน  กัลยพฤกษ์

ศัลยแพทย์ทั่วไปและศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านหลอดเลือด
ศูนย์ศัลยกรรมชั้นสูง โรงพยาบาลพญาไท 3

ติดต่อสอบถาม

    ชื่อ

    นามสกุล

    Email

    เบอร์โทร

    ข้อความ

    Start typing and press Enter to search