ถ้ามะเร็งเต้านมคือมะเร็งร้ายอันดับหนึ่งของผู้หญิง ทางฝั่งผู้ชายก็จะมี “มะเร็งต่อมลูกหมาก” เป็นมะเร็งร้ายอันดับต้นๆ ที่ทำให้เหล่าผู้ชายทุกคนต้องหวาดผวา ซึ่งนับวันก็จะพบว่ามีสถิติผู้ป่วยโรคนี้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น คุณผู้ชายทุกคนควรทำความรู้จักโรคนี้ไว้ เพื่อเตรียมพร้อมดูแลสุขภาพตัวเองให้ห่างไกลจากโรคร้ายนี้ให้ได้มากที่สุด

มะเร็งต่อมลูกมากเป็นอย่างไร ทำความรู้จักไว้เพื่อเตรียมตัวป้องกัน

มะเร็งต่อมลูกหมากถือเป็นมะเร็งร้ายอันดับหนึ่งของผู้ชายสูงวัย เป็นเนื้องอกชนิดร้ายแรงที่เกิดขึ้นในต่อมลูกหมาก และสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ของร่างกายได้เช่นเดียวกันกับมะเร็งชนิดอื่นๆ โดยที่พบบ่อยของการลุกลามคือ แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองและกระดูก ซึ่งถ้าหากว่าเป็นถึงระยะนั้น ก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมาก และยากต่อการรักษา ทั้งนี้ ระยะของมะเร็งต่อมลูกหมากสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ช่วง ได้แก่

ระยะที่ 1 พบแต่เพียงก้อนเนื้อที่ต่อมลูกหมากและยังไม่แพร่กระจายไปยังเซลล์อื่น
ระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ยังไม่แพร่กระจายไปยังส่วนอื่น
ระยะที่ 3 มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งออกมาที่ผิวด้านนอกของต่อมลูกหมาก
ระยะที่ 4 ระยะลุกลามไปยังกระดูกและต่อมน้ำเหลือง

ทั้งนี้ ความน่ากลัวของมะเร็งต่อมลูกหมากคือ มักไม่ค่อยแสดงอาการในระยะเริ่มต้น ทำให้ผู้ป่วยไม่ทราบว่าตัวเองเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก และมาทราบอีกทีเมื่อมะเร็งเริ่มไประยะอื่นๆ แล้ว จึงทำให้การรักษาเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น ดังนั้น การหมั่นสังเกตตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การเข้าตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และตรวจโรคเฉพาะทางที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นตามช่วงอายุ และเพศ เพื่อป้องกันและเพื่อให้เรารู้ตัวได้เร็ว หากเป็นโรคจะได้รักษาได้ทันท่วงที

ปัจจัยอะไรบ้าง คือหนทางสู่ความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมาก

นอกจากเรื่องของ “พันธุกรรม” แล้ว ยังคงมีปัจจัยอื่นๆ อีก ที่มีส่วนสำคัญของการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งปัจจัยความเสี่ยงที่ว่านั้นได้แก่

  • พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ของทอด ของมัน และการรับประทานเนื้อแดงในปริมาณมากๆ อาจเป็นสาเหตุของการเพิ่มความเสี่ยงให้เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้มากขึ้นได้
  • อายุ โดยยิ่งสูงวัยมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงภัยเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้มากขึ้นเท่านั้น โดยจากสถิติพบว่ามักเป็นมากในผู้ชายช่วงอายุ 50 ปี ขึ้นไป
  • จากการสำรวจพบว่าเชื้อชาติมีผลต่อความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก เพราะผู้ชายชาวตะวันตกโซนยุโรปและอเมริกา เป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชายชาวเอเชีย

สังเกตอาการอย่างไร ถึงรู้ว่ากำลังเสี่ยงภัยมะเร็งต่อมลูกหมาก

ความน่ากลัวของมะเร็งต่อมลูกหมาก คือในระยะแรกที่มีก้อนเนื้อเริ่มงอกขึ้นมา จะไม่ค่อยมีอาการแสดงเท่าไร จะตรวจพบจากการตรวจสุขภาพ โดยการตรวจทางทวารหนัก และเจาะเลือดตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA) ในผู้ป่วยบางรายมะเร็งจะโตและมีขนาดใหญ่ขึ้นจนไปกดทับท่อปัสสาวะ จึงจะมีอาการแสดงให้เห็น ซึ่งเราสามารถสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้ ดังนี้

  • มีอาการปัสสาวะไม่สุด
  • รู้สึกขัดลำกล้อง มีอาการแสบขณะปัสสาวะ
  • ปัสสาวะอ่อนแรง ไม่พุ่งเป็นลำเหมือนที่เคย
  • ปัสสาวะบ่อยขึ้น โดยเฉพาะในเวลากลางคืน
  • สำหรับรายที่มีอาการรุนแรง จะมีอาการปัสสาวะเป็นเลือด

โดยจะสังเกตได้ว่า อาการแสดงของมะเร็งต่อมลูกหมากและภาวะต่อมลูกหมากโตซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้ชายสูงอายุใกล้เคียงกันอย่างมาก จะแยกได้จากการตรวจร่างกายเพิ่มเติมและตรวจเลือดเท่านั้น ในเบื้องต้นของการทำการรักษาแพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยด้วยการซักประวัติอาการ โดยหากเข้าข่ายพบว่าเสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก แพทย์จะทำการตรวจร่างกายเพิ่มเติม ด้วยการตรวจทางทวารหนัก สอดนิ้วเข้าไปเพื่อตรวจคลำหาก้อนมะเร็งและสำรวจรูปร่างพร้อมขนาดของก้อนเนื้อ จากนั้นอาจทำการเจาะเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง หรือนำผู้ป่วยเข้ารับการทำ MRI เพื่อให้เห็นรายละเอียดของโรคทั้งหมด อันส่งผลต่อความแม่นยำในการรักษา

ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ ปรึกษาหมอ

รักษาได้อย่างไร ให้หายดีและปลอดภัยจากมะเร็งต่อมลูกหมาก

สำหรับแนวทางในการรักษานั้น หากตรวจพบในระยะต้น สามารถทำการรักษาโดยเลือกวิธีฉายแสงหรือผ่าตัดเพื่อการรักษาแบบหายขาด ซึ่งในปัจจุบันการรักษาโดยการผ่าตัด สามารถใช้วิธีการผ่าตัดแผลเล็กผ่านการส่องกล้องที่หน้าท้องโดยใช้เครื่องมือขนาดเล็กที่เป็นกล้องและมีเครื่องมือผ่าตัดติดเอาไว้ตอนปลายเพื่อเอาต่อมลูกหมากออก โดยการผ่าตัดผ่านการส่องกล้องแผลเล็ก จะทำให้ผู้ป่วยเสียเลือดน้อย เจ็บน้อย การผ่าตัดไม่กระทบกระเทือนเนื้อเยื่อบริเวณอื่น ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วและกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ สำหรับในรายที่ผู้ป่วยบางรายที่เริ่มมีการแพร่กระจายของมะเร็งในส่วนใกล้ต่อมลูกหมาก (ระยะที่ 1ถึงระยะที่ 3) นอกจากการผ่าตัดแล้ว แพทย์อาจพิจารณาให้ยาเคมีบำบัด หรือการใช้รังสีรักษาร่วมด้วย

สำหรับแนวทางในการรักษาผู้ป่วยในระยะที่มีการแพร่กระจายไปที่อวัยวะอื่น (ระยะที่ 4) หากผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรงแพทย์อาจรักษาด้วยการให้ยาคลายกล้ามเนื้อต่อมลูกหมากเพื่อลดอาการที่เกิดจากต่อมลูกหมากกดทับท่อปัสสาวะ และ ควบคู่ไปกับการให้ยายับยั้งการสร้างฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งจะทำให้ต่อมลูกหมากไม่โตขึ้นเพิ่มไปอีก ซึ่งถ้าหากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง ให้รับประทานยาแล้วไม่ดีขึ้น หรือป่วยจนถึงขั้นปัสสาวะไม่ออก แพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะ ซึ่งวิธีที่มีประสิทธิภาพในปัจจุบัน จะเป็นการผ่าตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากทางท่อปัสสาวะ ซึ่งจะสอดผ่านเข้าไปทางท่อปัสสาวะ เข้าไปตัดชิ้นเนื้อที่เกินจากต่อมลูกหมากออกมา

คุณผู้ชายฟังไว้ ใช้ชีวิตแบบไหนห่างไกลมะเร็งต่อมลูกหมาก

แน่นอนว่าคงไม่มีคุณผู้ชายท่านไหน อยากที่จะเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากแน่ๆ ถึงแม้ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีการรักษาจะก้าวหน้าไปไกลแค่ไหนก็ตาม ดังนั้น การป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคจึงเป็นแนวทางที่ดีที่สุด ที่ทุกคนควรใส่ใจ และต่อจากนี้ไป คือแนวทางการใช้ชีวิต ที่จะทำให้คุณผู้ชายทุกคน ห่างไกลจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้มากยิ่งขึ้น

  • หมั่นสังเกตอาการผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ
    หากพบสัญญาณไม่น่าไว้ใจควรรีบปรึกษาแพทย์
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี โดยยิ่งสูงอายุมากขึ้น ก็ควรเลือกตรวจโรคเฉพาะทางมากขึ้น เพื่อการเตรียมตัวป้องกันที่สุดที่สุด
  • หลีกเลี่ยง หรือถ้าเป็นไปได้ ควรงดเว้นการดื่มกาแฟ
    และเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
  • ควรดื่มน้ำเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว ทั้งนี้ไม่ควรดื่มน้ำมากๆ ตอนก่อนนอน เพราะจะทำให้เราปวดปัสสาวะขณะหลับ และเหมือนกลั้นไว้นานเกินไป หากไม่ลุกตื่นขึ้นมาเข้าห้องน้ำ
  • งดรับประทานของทอด ของมัน เนื้อแดง และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ

ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ (ไม่เสียค่าใช้จ่าย)

    ชื่อ

    นามสกุล

    Email

    เบอร์โทร

    ข้อความ

    Start typing and press Enter to search