เป็นที่ทราบกันดีว่าร่างกายของผู้หญิงนั้น มีความซับซ้อนมากกว่าผู้ชายหลายเท่า ซึ่งจากความซับซ้อนนั้นเอง จึงทำให้ผู้หญิงทุกคนมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคภัยอะไรแปลกๆ ได้มากมายกว่าผู้ชาย และหนึ่งในโรคที่พบได้ทั่วไป ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้อันตรายมากนัก แต่ก็ทำให้ความสุขในชีวิตหายไปได้มากเลยก็คือ โรคช็อกโกแลตซีสต์ หรือ ถุงน้ำช็อกโกแลต และเพื่อให้ผู้หญิงทุกคนสามารถป้องกันตัวเองจากความเจ็บปวดของโรคนี้ได้ การศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องถุงน้ำช็อกโกแลต จึงเป็นสิ่งที่เราไม่ควรมองข้าม

รู้จักเพื่อเข้าใจ อะไรคือ ถุงน้ำช็อกโกแลต (Chocolate Cyst)

“ซีสต์” มาจากภาษาอังกฤษว่า “cyst” มีความหมายว่า “ถุงน้ำ”  โดยไม่ว่าอะไรก็ตามที่มีเปลือกและมีน้ำหรือของเหลวภายในก็จะเรียกว่า “ซีสต์” เหมือนกันทั้งหมด ส่วนช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate Cyst) คือ ถุงน้ำในรังไข่ประเภทหนึ่ง ที่เกิดจากเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ อาจเกิดจากประจำเดือนไหลย้อนกลับเข้าไปในอุ้งเชิงกรานและไปเกาะติดกับรังไข่ (Retrograde Menstruation)  เวลามีประจำเดือนจะมีเลือดตกค้างก่อตัวเป็นซีสต์ ที่บริเวณ รังไข่ มีลักษณะที่เป็นของเหลวเหนียวข้นคล้ายช็อกโกแลต ทางการแพทย์จึงเรียกอีกชื่อว่า “ถุงน้ำช็อกโกแลต”

เพราะอะไร ทำไมถุงน้ำช็อกโกแลต จึงเกิดขึ้นได้ในร่างกายผู้หญิง?

อวัยวะทุกอวัยวะภายในร่างกายของคนเรามีโอกาสจะเกิดถุงน้ำได้  ไม่ว่าจะเป็นผิวหนัง ไขมัน อวัยวะภายใน สำหรับผู้หญิงก็จะมีเสี่ยงเพิ่มมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะมีรังไข่ที่มีโอกาสเกิดถุงน้ำขึ้นได้บ่อยๆ นอกเหนือจากการที่ประจำเดือนไหลกลับไปตกค้างสะสมในรังไข่ ยังมีอีกหลายข้อสันนิษฐานที่อธิบายสาเหตุการเกิดของถุงน้ำช็อกโกแลต เช่น เยื่อบุช่องท้องเกิดการระคายเคือง (Transformation Of Peritoneal Cells) จากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหรือระบบภูมิคุ้มกัน การเปลี่ยนแปลงของเซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อน (Embryonic Cell Transformation) หรือ ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน (Immune System Disorder) ผู้หญิงที่อยู่ในช่วงอายุ 25-40 ปี มีปัจจัยเสี่ยงที่พัฒนาให้เกิดถุงน้ำช็อกโกแลตขึ้น โดยเฉพาะในคนที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคนี้ ยังไม่เคยมีบุตรมาก่อน หรือมีรอบเดือนผิดปกติ เช่น ประจำเดือนมามากและมีระยะเวลานานกว่าปกติ รอบเดือนสั้น

“เนื้องอก” กับ “ถุงน้ำ” ความแตกต่างที่ผู้หญิงต้องรู้

หลายคนเมื่อทราบผลตรวจว่า พบถุงน้ำไม่ว่าที่ส่วนใดของร่างกาย ก็จะมีความกังวลขึ้นมาทันที เพราะหลายคนมีความเข้าใจว่า ถุงน้ำกับเนื้องอก คือสิ่งเดียวกัน แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ ถุงน้ำมีความคล้ายกับเนื้องอกต่างกันตรงที่ว่า ภายในของถุงน้ำจะกลวง เป็นโพรง และมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ภายในเช่น ของเหลว อากาศ หรือสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ ส่วนภายในของเนื้องอกจะตัน

ทั้งถุงน้ำและเนื้องอกมีลักษณะเฉพาะที่เหมือนกันคือ เมื่อเกิดขึ้นแล้วสามารถโตได้ ขยายขนาดได้ แต่ไม่ได้ลุกลาม จะคงอยู่ตรงที่เกิดขึ้นเท่านั้น แตกต่างจากมะเร็งที่จะเจริญเติบโตและเป็นอันตรายขึ้นเรื่อย ๆ

ถุงน้ำช็อกโกแลตอันตราย จะกลายเป็นมะเร็งได้ หรือไม่

จากสถิติทางการแพทย์พบว่ามีโอกาสน้อยมากๆ ที่จะมีการพัฒนาจากถุงน้ำไปเป็นมะเร็ง สำหรับใครที่พบว่าตนเองเป็นถุงน้ำ จึงไม่ต้องเป็นกังวล เพราะถุงน้ำบางประเภทสามารถรักษาให้หายไป หรือเพียงทำการผ่าตัดออกก็จะหายได้เป็นปกติ ในผู้หญิงที่มีปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งรังไข่ ได้แก่ มีประวัติว่าคนในครอบครัวเป็นมะเร็งรังไข่ มีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ ต้องระวังและรอบคอบ และควรตรวจเพิ่มเติมในเรื่องของมะเร็งต่อไป

สังเกตอาการอย่างไร ถึงรู้ว่ากำลังเสี่ยงภัยถุงน้ำช็อกโกแลต

ถุงน้ำที่ขึ้นภายในร่างกายบางครั้งก็ไม่มีอันตราย แต่ถุงน้ำที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จะไปรบกวนระบบการทำงานส่วนอื่น ตัวอย่างเช่น ถุงน้ำช็อกโกแลตที่พบได้ในผู้หญิง ลักษณะเช่นนี้คือทำให้มีอาการปวดมากกว่าการปวดประจำเดือน จึงต้องทำการรักษาโดยการผ่าตัดออก ผู้ป่วยแต่ละคนจะมีอาการมากน้อยไม่เท่ากัน เริ่มตั้งแต่ไม่มีความผิดปกติใด ๆ แสดงอาการเพียงเล็กน้อย หรือรุนแรง อาการที่พบบ่อย เช่น

  • ปวดบริเวณอุ้งเชิงกรานเรื้อรัง โดยจะมีอาการปวดรุนแรงมากขึ้นในช่วงมีประจำเดือน
  • ปวดประจำเดือนมากกว่าปกติ ซึ่งมักจะเริ่มปวดก่อนประจำเดือนมา 2-3 วันไปจนหมดรอบเดือน ซึ่งจะต่างกับการปวดประจำเดือนปกติที่มักปวดในช่วงวันแรก ๆ และไม่รุนแรง
  • สังเกตพบมีเลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด หรืออาการอื่น ๆ คล้ายกับช่วงมีประจำเดือน
  • รู้สึกเจ็บและปวดบริเวณท้องน้อยขณะมีเพศสัมพันธ์
  • การมีถุงน้ำช็อกโกแลต เป็นสาเหตุให้มีบุตรยากได้
  • อาจรู้สึกว่าปัสสาวะบ่อยขึ้น เนื่องจากถุงน้ำไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ
  • อาการปวดท้องน้อยเฉียบพลัน จากขั้วถุงน้ำรังไข่บิด หรือถุงน้ำรังไข่แตก

อาการปวดท้องข้างซ้ายส่วนล่างกับถุงน้ำช็อกโกแลต

การปวดท้องเป็นอาการผิดปกติที่เรามีโอกาสพบได้บ่อย แต่เรามักแยกแยะไม่ได้ว่าอะไรคือสาเหตุของการปวดท้อง ข้อควรสังเกตเมื่อมีอาการปวดท้องข้างซ้ายส่วนล่าง อาจเป็นไปได้ว่ามีถุงน้ำช็อกโกแลต บริเวณรังไข่ โดยจะมีการปวดท้องด้านซ้ายล่างอย่างหนักในช่วงเป็นประจำเดือน บางครั้งถึงขั้นเป็นลมได้ สำหรับวิธีรักษาที่ดีที่สุดคือ การผ่าตัด

น่ากลัวมากแค่ไหน ถ้ามีถุงน้ำช็อกโกแลตในร่างกาย

จริงอยู่ที่ว่า ถุงน้ำ หรือ ซีสต์ โดยส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นอันตราย แต่สำหรับถุงน้ำช็อกโกแลต เป็นสาเหตุให้มีบุตรยาก เนื่องจากถุงน้ำอาจไปขวางไข่ไม่ให้ไปฝังตัวที่โพรงมดลูกได้อย่างสมบูรณ์ อีกทั้งยังมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้องเรื้อรัง บางรายอาจเกิดถุงน้ำแตกหรือฉีกขาด เมื่อตรวจพบถุงน้ำช็อกโกแลต จึงต้องได้รับการพิจารณาวิธีการรักษาอย่างใดอย่างหนึ่ง

ตรวจวินิจฉัยอย่างไร ว่ากำลังเสี่ยงภัยถุงน้ำช็อกโกแลต

แพทย์จะสอบถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยและบุคคลในครอบครัว ตั้งแต่ปวดในลักษณะไหน บริเวณที่มีอาการปวด เกิดขึ้นเมื่อไร หรือประวัติการปวดประจำเดือนและการมีเพศสัมพันธ์ การตรวจหลัก ๆ ที่ใช้ประกอบการวินิจฉัยจะมีสามส่วนคือ

  1. การตรวจภายใน เป็นการตรวจหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับอวัยวะบริเวณอุ้งเชิงกราน อวัยวะเพศ และทวารหนัก ทำให้แพทย์สามารถตรวจดูว่ามีเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่หรือไม่
  2. การตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อตรวจดูอวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน ซึ่งสามารถตรวจพบก้อนขนาดเล็ก แต่ไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างละเอียด
  3. การส่องกล้อง (Laparoscopy) เพื่อเป็นการตรวจดูความผิดปกติภายในช่องท้อง ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยวินิจฉัยได้แม่นยำมากที่สุด ด้วยวิธีการส่องกล้องนี้ แพทย์จะสามารถระบุตำแหน่งและขนาดของถุงน้ำที่ตรวจพบได้ และสามารถทำการผ่าตัดรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดผ่านกล้องในขณะส่องกล้อง เพื่อวินิจฉัยได้ในคราวเดียวกันไปได้เลย

ถุงน้ำช็อกโกแลตระยะแรกๆผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว จะรู้ตัวก็ต่อเมื่อ ก้อนใหญ่และเกิดภาวะแทรกซ้อนไปแล้ว การตรวจภายในร่วมกับการใช้อัลตร้าซาวด์ จะช่วยให้ตรวจพบและทำการรักษาได้เร็วขึ้น คุณผู้หญิงจึงควรตรวจสุขภาพประจำทุกปี

การป้องกันการเกิดถุงน้ำช็อกโกแลต ทำได้หรือไม่

นับว่าเป็นเรื่องยากที่จะป้องกันการเกิดถุงน้ำในส่วนต่างๆ ของร่างกาย สิ่งที่เราสามารถทำได้คือ หมั่นตรวจสอบร่างกายของตัวเอง ปรึกษาคุณหมอเมื่อพบสิ่งผิดปกติในร่างกาย ถุงน้ำภายนอกเป็นสิ่งที่เราตรวจสังเกตด้วยสายตาได้อยู่แล้ว แต่สำหรับภายในร่างกายแล้ว จำเป็นต้องเข้าตรวจในโรงพยาบาล และควรตรวจร่างกายประจำปีอย่างสม่ำเสมอ

รวมทั้งการเลือกรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อนที่เพียงพอ ที่เป็นสามเรื่องพื้นฐานที่จะช่วยสร้างสุขภาพที่ดีให้เราได้อย่างยั่งยืน

วิธีการรักษาถุงน้ำช็อกโกแลต

การรักษาถุงน้ำแต่ละประเภท แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยและหาทางรักษาที่เหมาะสม สำหรับถุงน้ำช็อกโกแลต นั้น มีผลรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ก่อให้เกิดการปวด ทรมานได้ จำเป็นต้องรักษา สามารถทำได้ดังต่อไปนี้

  • การรักษาโดยการใช้ยา จะแบ่งตัวยาออกเป็น 2 กลุ่มได้แก่
  • ยาแก้ปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non Steroidal Anti-Inflammatory Drugs) หรือเรียกแบบย่อว่า ยาเอ็นเสด (NSAIDs) เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดท้องน้อยหรือปวดระหว่างมีรอบเดือนที่ไม่รุนแรง ตัวอย่างยาที่นิยมใช้ เช่น ยาไอบรูโปรเฟน (Ibuprofen) ยานาพรอกเซน (Naproxen)
  • ยาฮอร์โมนเพศหญิง (Hormone Therapy) ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดมากและไม่ได้วางแผนตั้งครรภ์ในระยะอันใกล้ โดยตัวยาจะช่วยชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์ให้ช้าลงและป้องกันการฝังตัวใหม่ของเซลล์เยื่อบุมดลูก ผู้ป่วยอาจต้องใช้ยาเป็นระยะเวลาประมาณ 3-6 เดือนตามแต่ละบุคคล แต่ในบางรายอาจพบอาการได้ใหม่หลังหยุดใช้ยา
  • การรักษาโดยทำการผ่าตัดเอาถุงน้ำออก ในกรณีที่ถุงน้ำมีขนาดใหญ่ หรืออยู่ในตำแหน่งที่เป็นอันตรายต่อระบบการทำงานภายใน แพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยผ่าตัด โดยส่วนใหญ่จะเป็นการผ่าตัดผ่านกล้องมากกว่าการผ่าตัดทางหน้าท้อง เนื่องจากรอยแผลมีขนาดเล็ก ใช้ระยะเวลาพักฟื้นน้อย และยังสามารถมีบุตรได้ในอนาคต

การผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็กกับการรักษาถุงน้ำช็อกโกแลต

การผ่าตัดแบบส่องกล้องเป็นการพัฒนาการทางเทคโนโลยีเพื่อช่วยในการผ่าตัดในที่แคบๆ ได้ง่ายขึ้น เป็นการเจาะผิวหนังบริเวณที่จะทำการรักษาให้เป็นรูขนาดเล็กๆ จากนั้นจึงทำการใส่กล้องและเครื่องมือผ่าตัดลงไปเพื่อทำการผ่าตัดรักษา ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นรายละเอียดของตำแหน่งภายในร่างกายที่ต้องการผ่าตัดได้ชัดเจนมากขึ้น  เจ็บน้อยกว่า เสียเลือดน้อยลง และ ฟื้นตัวและกลับบ้านไปทำงานได้เร็วขึ้น การผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็ก หรือ MINIMALLY INVASIVE SURGERY (MIS) มีข้อดี คือ

  • เป็นการผ่าตัดแผลเล็ก เปิดปากแผลเพียงแค่ 0.5-1.5 ซม.
  • การผ่าตัดแบบส่องกล้อง ทำให้พบจุดก่อโรคได้แม่นยำ
  • ลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดแบบเดิมๆ
  • เสียเลือดน้อย เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว กลับบ้านได้เร็ว
  • เมื่อผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว ก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ได้ไวขึ้น
  • ลดค่าเสียโอกาสเนื่องจากหยุดทำงานลง

การปฏิบัติตัวหลังการรักษาด้วยการผ่าตัด

  • ห้ามให้แผลเปียกน้ำ จนกว่าแผลจะหายสนิท (ประมาณ 7 วัน)
  • ระหว่างพักฟื้นควรออกกำลังกายที่ไม่หักโหม เช่น การเดิน
  • รับประทานยาตามแพทย์สั่งและอย่าลืมพบแพทย์ตามนัด
  • งดเพศสัมพันธ์ไว้ก่อนประมาณ 4-6 สัปดาห์
  • หากมีความผิดปกติ เช่น มีไข้ แผลบวม แดง ปวดท้อง ควรมาพบแพทย์ทันที
นพ.ชาญชัย เลาหประสิทธิพร

แพทย์หัวหน้าศูนย์สุขภาพหญิง
โรงพยาบาลพญาไท 3

Start typing and press Enter to search