เมื่ออายุมากขึ้น ปัญหาสุขภาพอย่างหนึ่งที่มักรบกวนเราคือ การเคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวกไม่คล่องแคล่วเหมือนเดิม อาจกล่าวได้ว่า เป็นเรื่องที่เราเลี่ยงไม่ได้ อยู่ที่ว่าจะมีอาการมากน้อยต่างกันเพียงใด ทั้งนี้มีปัจจัยต่างๆ หลายอย่างที่เป็นตัวบ่งชี้ว่า ใครจะมีอาการมากน้อยอย่างไร โดยรวมแล้วก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมในการใช้ชีวิตในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เมื่อถึงวัย 50 ปีขึ้นไป อาการปวดข้อสะโพก อาการปวดข้อเข่า คือหนึ่งอาการที่สร้างปัญหารบกวนการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันให้ไม่สะดวกเหมือนเดิม มิหนำซ้ำยังสร้างความเจ็บปวดให้กับเราจนใช้ชีวิตอย่างไม่มีความสุขอีกด้วย นั่นเองจึงทำให้เราไม่ควรที่จะมองข้ามการใส่ใจดูแลข้อเข่าและข้อสะโพกของตัวเอง เพื่อให้บั้นปลายชีวิตนั้น สามารถเคลื่อนไหวได้สะดวกและไม่เจ็บปวด

ทำความรู้จักข้อเข่าและข้อสะโพก ป้องกันโรคจากความเสื่อม

ข้อต่อสะโพก เป็นส่วนข้อต่อที่ใหญ่ที่สุดของร่างกายมนุษย์ และเรียกกันว่า “ข้อต่อลูกกลมในเบ้ากระดูก” ข้อต่อที่สุขภาพดีจะมีกระดูกที่เชื่อมต่อกันด้วยสายเนื้อเยื่อหรือเส้นเอ็น โดยเส้นเอ็นเหล่านี้จะถูกหล่อลื่นด้วยของเหลวเพื่อลดแรงเสียดทานลง ข้อต่อยังถูกห้อมล้อมด้วยเนื้อเยื่อกระดูกอ่อนที่มีไว้รองรับข้อต่อและป้องกันไม่ให้กระดูกเสียดสีเข้าด้วยกัน

ข้อเข่า คือส่วนที่เชื่อมต่อกันระหว่างกระดูกต้นขากับกระดูกหน้าแข้ง ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้เรางอขาได้ ข้อนั้นถือว่ามีความสำคัญทั้งกับคนทั่วไปและกับนักกีฬา เพราะหากเราปวดข้อเข่าเมื่อไร อาจรุนแรงถึงขั้นไม่สามารถเดินได้ รับน้ำหนักตัวไม่ไหว จนต้องการเป็นผู้ป่วยติดเตียงติดรถเข็นไปในที่สุด

โรคข้อเข่าและข้อสะโพกเสื่อมคืออะไร

หน้าที่ของข้อสะโพกนั้นใช้ในการแบกรับน้ำหนักตัว จึงเป็นข้อต่อหนึ่งที่มีภาระหนักและเสื่อมได้ง่ายจึงก่อให้เกิด “โรคข้อสะโพกเสื่อม” ซึ่งโรคนี้ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของอาการข้ออักเสบที่เกิดจากกระดูกอ่อนที่คลุมพื้นผิวของข้อเสื่อมสลายไปจนทำให้เกิดอาการปวดและข้อติดแข็ง จนทำให้มีปัญหาในการเคลื่อนไหว

โรคข้อเข่าเสื่อม เกิดจากการที่กระดูกอ่อนผิวข้อเข่า เสื่อมลงตามสภาพการใช้งาน หรือตามวัยที่ร่วงโรย ทำให้เกิดอาการปวดเข่า เข่าบวม ข้อยึดติด เดินลำบาก หรือบางรายก็เข่าผิดรูปไปเลยก็อาจเป็นได้ ซึ่งหากมีภาวะเสื่อมมากๆ จะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติ

สังเกตอาการอย่างไร ถึงรู้ว่าเสี่ยงภัยโรคข้อเข่าและข้อสะโพกเสื่อม

สำหรับอาการของโรคข้อสะโพกเสื่อมนั้น ในเบื้องต้นระยะแรกจะมีอาการปวด มีการติดขัดเวลาเคลื่อนไหว และในผู้ป่วยที่เป็นมาสักระยะ จะมีอาการปวดสะโพกเรื้อรังทั้งในขณะขยับตัวและนอนหลับ รู้สึกตึงเมื่อเวลาลุกนั่งเจ็บเวลาเดินลงน้ำหนัก ขึ้นลงบันไดไม่สะดวก สามารตรวจสอบอาการด้วยตัวเอง ถ้ามีอาการดังนี้ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด

  • ผู้ป่วยมีอาการปวดบริเวณขาหนีบหรือต้นขาด้านหน้า
  • การเคลื่อนไหว ข้อสะโพกติดขัด อาการจะจะดีขึ้นเมื่อได้พัก
  • อาจทำให้ขาอ่อนแรงลงเนื่องจากกล้ามเนื้อที่ควบคุมข้อสะโพกอ่อนแอ
  • ข้อสะโพกเกิดการอักเสบ อาจเกิดปุ่มกระดูกงอกขึ้นรอบๆ ข้อ
  • ถ้ากระดูกอ่อนที่รองอยู่สึกหายไปหมด อาจทำให้เกิดอาการปวดรุนแรงเมื่อกระดูกเสียดสีกัน และขาจะสั้นลง

ส่วนอาการของโรคข้อเข่าเสื่อม ก็จะมีลักษณะคล้ายกันที่ “ความเจ็บปวด”  โดยจะเริ่มจากการเจ็บปวดแบบพอทนได้ เป็นๆ หายๆ และทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ สามารถสังเกตลำดับอาการโดยรวมเมื่อข้อเข่าเสื่อม ได้ดังนี้

  • รู้สึกปวดเข่าขณะเดิน หรือขึ้นลงบันได บางรายมีอาการปวดตอนกลางคืนขณะนอน
  • เข่าบวม ไม่สามารถขยับ เคลื่อนไหวข้อเข่าได้อย่างเป็นปกติ รู้สึกตึงข้อ และมีอาการติดขัด ไม่คล่องแคล่วเหมือนเคย
ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ ปรึกษาหมอ

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกและข้อเข่าด้วยวิธี “การผ่าตัดแผลเล็ก”

“การผ่าตัดแผลเล็ก” หรือ “Minimally Invasive Surgery (MIS)” คือ เทคโนโลยีการผ่าตัดผ่านกล้อง ด้วยการเจาะผิวหนังบริเวณที่จะทำการรักษาให้เป็นรูขนาดเล็กๆ จากนั้นจึงทำการใส่กล้องและเครื่องมือผ่าตัดลงไปเพื่อทำการผ่าตัดรักษา แผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็ก และไม่ได้ตัดกล้ามเนื้อมาก ทำให้เจ็บปวดน้อยลงเสียเลือดน้อยกว่าสมัยก่อน ช่วยให้การฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็วขึ้น ซึ่งปัจจุบันเราสามารถใช้วิธีการผ่าตัดแผลเล็ก กับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกได้ เป็นทางเลือกแทนการผ่าตัดแบบเปิดแผลใหญ่ ที่มีประสิทธิภาพดีกว่า ผู้ป่วยเจ็บปวดน้อยกว่า ฟื้นตัวได้เร็วกว่า และกลับมามีชีวิตปกติที่เคลื่อนไหวได้อย่างเป็นปกติเร็วกว่า

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกเทียมคืออะไร

ในผู้ป่วยที่มีภาวะความเสื่อมของข้อเข่าและข้อสะโพกที่รุนแรง การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกเทียม คือการผ่าตัดที่นำเอาข้อเข่าและข้อสะโพกเดิมที่เสื่อมแล้วออกไป และเปลี่ยนเอาข้อเข่าและข้อสะโพกเทียมเข้าไปแทนที่ ซึ่งจะสามารถทำให้ผู้ป่วยกลับมาเคลื่อนไหวได้อย่างเป็นปกติเหมือนเดิม และที่สำคัญไม่ต้องทนกับอาการเจ็บปวดทุกข์ทรมานอีก

ข้อสะโพกเทียมและข้อเข่าเทียม ใช้งานได้นานแค่ไหน

อายุการใช้งานของข้อสะโพกเทียม จะขึ้นกับหลายปัจจัย เริ่มตั้งแต่การผ่าตัดที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน การวางตำแหน่งข้อสะโพกเทียมได้เหมาะสม และผู้ป่วยต้องปฏิบัติตัวในการใช้งานข้อสะโพกเทียมอย่างเหมาะสมด้วย โดยข้อสะโพกเทียมประกอบด้วย 3 ส่วน คือ

  1. ส่วนที่ทดแทนเบ้าข้อสะโพก
  2. ส่วนของหัวข้อสะโพก
  3. ส่วนที่ทำหน้าที่ทดแทนกระดูกอ่อน

ปัจจุบันอายุการใช้งานของข้อเทียมรุ่นใหม่ยาวนานขึ้น เนื่องจากถูกออกแบบมาให้มีรูปร่างที่ดี มีวัสดุผิวสัมผัสที่ดี มีขนาดของหัวที่ใหญ่ทำให้โอกาสที่ข้อจะเคลื่อนหลุดน้อยลง และเพิ่มความสามารถในการเคลื่อนไหวได้ดียิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องเลือกใช้ข้อสะโพกเทียมที่มีคุณภาพสูงด้วยเช่นกัน

สำหรับในส่วนของข้อเข่าเทียมนั้น จากสถิติจะพบว่า ร้อยละ 2-5 ข้อเข่าเทียมที่เปลี่ยนให้กับผู้ป่วยจะหลวมเสียภายในระยะเวลาประมาณ 10 ปี และร้อยละ 80 จะมีอายุการใช้งานนานกว่า 20 ปี โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่ออายุการใช้งานของข้อเข่าเทียม ได้แก่ การใช้งานของผู้ป่วย ความเชี่ยวชาญของแพทย์ตอนทำการเปลี่ยนข้อเข่า และรุ่นของข้อเข่าที่ใช้เปลี่ยนให้กับผู้ป่วย

รู้ไว้ไม่เสียหาย เพื่อรักษาข้อเข่าให้ดีได้ยาวนานยิ่งขึ้น

ไม่ว่าจะเราจะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม หรือโรคข้อสะโพกเสื่อมหรือไม่ ไม่ว่าเราจะเปลี่ยนข้อเข่าหรือข้อสะโพกเทียมแล้วหรือยัง “การควบคุมน้ำหนัก” ให้ได้มาตรฐาน คือสิ่งที่ทุกคนควรทำ เพื่อให้ร่างกายมีความสมดุลและไม่มีอวัยวะใดแบกรับน้ำหนักมากเกินไปจนนำมาซึ่งความเสื่อมที่รวดเร็วและรุนแรงกว่าปกติ รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต ที่เราควรใส่ใจ ไม่ทำอะไรเกินตัว เคลื่อนไหวอะไรก็ต้องระมัดระวัง ไม่ยกของหนักเกินไป ไม่นั่งยอง ไม่นั่งคุกเข่าบ่อยๆ หรือไม่หักโหมออกกำลังกาย เคลื่อนไหวอะไรโดยที่ไม่ได้ทำการวอร์มก่อน และสุดท้ายที่ควรตระหนักเลยว่าเป็นสิ่งที่ห้ามละเลย คือ การเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ หากทำได้ตามนี้ เราก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์มากขึ้น

สถาบันกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อ โรงพยาบาลพญาไท 3 ชั้น 1
เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00 – 22.00 น.
Phyathai Call Center 1772 หรือ
โทร. 0-2467-1111 ต่อ 3100 และ 3112

จากใจผู้ใช้บริการ คุณเฮียง มุกนนท์ ผู้ป่วยปวดหัวเข่าจากข้อเข่าเสื่อม

ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ (ไม่เสียค่าใช้จ่าย)

    ชื่อ

    นามสกุล

    Email

    เบอร์โทร

    ข้อความ

    Start typing and press Enter to search