ผู้ป่วย “โรคหลอดเลือดสมองตีบ” เนื้อสมองขาดเลือด ส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมหรือสั่งการร่างกายให้ทำงานได้อย่างปกติ ลักษณะอาการที่พบได้บ่อยคือ แขนขาอ่อนแรงหรือชา หรือในบางรายอาจไม่สามารถรับรู้การเคลื่อนไหวของแขนขาได้ จึงไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือเดินได้ตามปกติ  รวมทั้งความจำ การนึกคิดหรือ การพูดจะเปลี่ยนไป จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับ “การฟื้นฟูร่างกาย” โดยเร็วอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถกลับไปดำเนินชีวิต ช่วยเหลือตัวเองให้ได้ พร้อมปรับตัวให้เข้ากับข้อจำกัด ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด เพื่อลดการเกิดภาวะพิการถาวรจากโรคหลอดเลือดสมอง

เริ่มต้นฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ ให้ดีขึ้นได้อย่างไร

หลักสำคัญของการฟื้นฟูสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ คือ การให้ผู้ป่วยฝึกการใช้งานเคลื่อนไหวซ้ำๆ บ่อยๆ อย่างถูกต้อง ต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อให้เซลล์สมองที่ยังเหลืออยู่เกิดการเรียนรู้ จดจำ และสั่งการทดแทนเซลล์สมองที่สูญเสียไป กระทั่งกลับมาสู่สภาพที่ปกติหรือใกล้เคียงมากที่สุด ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอาจเป็นเดือนหรือปี หลังออกจากโรงพยาบาล โดยมีหลักในการฟื้นฟู 4 ข้อ สำคัญดังนี้

  1. การฟื้นฟูด้วยการการฝึกพูด
  2. ฟื้นฟูทำกายภาพบำบัดและการฝึกความแข็งแรงของร่างกาย
  3. การฝึกทักษะการเรียนรู้ใหม่ที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตประจำวัน
  4. การฟื้นฟูสภาพจิตใจ

ในการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วยทั้ง 4 ข้อนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ป่วยเองและครอบครัว ซึ่งบุคคลในครอบครัวหรือผู้ดูแลเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยมากที่สุด เป็นผู้ที่ช่วยเหลือดูแลทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ มีบทบาทสำคัญในการให้กำลังใจผู้ป่วย ตลอดจนให้คำแนะนำและส่งเสริมให้เกิดแรงกระตุ้นในผู้ป่วยให้ฟื้นฟูสมรรถภาพและช่วยเหลือในกิจกรรมที่ผู้ป่วยไม่สามารถปฏิบัติได้

การฝึกพูด ฟื้นฟูการสื่อสารในผู้ป่วยหลอดเลือดสมองตีบ

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองบางรายมีปัญหาสื่อสารบกพร่อง พูดไม่ชัด พูดลำบาก ไม่เข้าใจคำพูดหรือภาษาในการสื่อสาร ดังนั้นจึงควรได้รับการฝึกพูดเพื่อสื่อสาร จากนักอรรถบำบัด ซึ่งจะเข้ามาช่วยสอนทักษะ วิธีเรียนรู้การใช้ภาษาและการสื่อสาร การรักษาอาจรวมถึงการพูดคำซ้ำและการฝึกอ่านและเขียนให้กับผู้ป่วยและผู้ดูแล เพื่อช่วยกันฝึกผู้ป่วย เช่น ผู้ดูแลถามคำถามที่สั้นและง่าย พูดช้าๆ ชัดๆ ใช้คำศัพท์ง่ายๆ และแสดงลักษณะท่าทางประกอบ  เลือกคำถามที่ตอบได้ด้วยคำว่า “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” อาทิ รู้สึกหิวไหม? โดยที่ผู้ดูแลควรยืนอยู่ในตำแหน่งที่ผู้ป่วยสามารถมองเห็นเมื่อทำการสนทนา บรรยากาศในการสื่อสารควรเงียบสงบ ผ่อนคลายทั้ง 2 ฝ่าย ไม่แสดงท่าทางรีบเร่งรอคอยคำตอบจากผู้ป่วย นอกจากนี้เสียงดนตรี หรือการใช้ดนตรีบำบัด ก็สามารถทำให้ผู้ป่วยมีการพูดที่ดีขึ้นได้

ฟื้นฟูทำกายภาพบำบัดและการฝึกความแข็งแรงของร่างกาย

ภาวะที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยหลอดเลือดสมองตีบ นอกจากปัญหาเกี่ยวการเคลื่อนไหว สูญเสียการทำงานของกล้ามเนื้อ การควบคุมการขับถ่าย การกลืนลำบาก เป็นต้น ปัญหาการกลืนส่งผลให้ผู้ป่วยสำลักและเกิดการติดเชื้อปอดอักเสบได้ จำเป็นต้องได้รับการแนะนำและการฝึกกลืน โดยนักกิจกรรมบำบัด และนักกายภาพบำบัด เช่น การเตรียมอาหารเป็นชิ้นเล็กๆ การออกกำลังกายเพื่อให้กล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการกลืนทำงานได้ดีขึ้น รวมถึงคำแนะนำเรื่องท่าทางของศรีษะและลำคอ ขณะนั่งรับประทานอาหาร ส่วนการฝึกการเคลื่อนไหวร่างกาย การออกกำลังในซีกที่อ่อนแรง เน้นการฝึกความคงทนและความแข็งแรง เพื่อเสริมสร้างทักษะของด้านที่เสียไปตามกำลังความสามารถ และช่วยให้ข้อต่างๆ ทำหน้าที่ได้ตามปกติ ป้องกันการยึดติดของข้อ ป้องกันการหดตัวของกล้ามเนื้อและช่วยให้เลือดไหลเวียนสะดวกขึ้น โดยการทำกายภาพบำบัด ดังนี้

 1.ออกกำลังกายโดยผู้ดูแล หรือนักกายภาพบำบัดทำให้ ผู้ดูแลจะต้องพยุงในส่วนที่จะทำเคลื่อนไหวอย่างดี คอยช่วยกำกับการเคลื่อนไหว เช่น การฝึกก้าวขาทีละข้าง ฝึกลงน้ำหนักตามจังหวะการเดินปกติ การเดินบนพื้นราบ และการฝึกขึ้นลงบันได

2.ออกกำลังกายโดยตัวผู้ป่วยเอง ซึ่งผู้ป่วยทุกรายจำเป็นต้องฝึก เพื่อให้เกิดผลดีกับตัวผู้ป่วยเอง แต่จะทำได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความสามารถและกำลังกล้ามเนื้อของผู้ป่วย หากผู้ป่วยได้รับการฝึกอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้ผู้ป่วยเรียนรู้และทำการเคลื่อนไหวต่างๆ ดีขึ้น

การฝึกทักษะการเรียนรู้ใหม่ที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตประจำวัน

การใช้ชีวิตประจำวันหมายถึง กิจกรรมต่างๆ ที่ต้องทำเป็นประจำในแต่ละวัน เริ่มตั้งตื่นนอนจนถึงเข้านอน ส่งเสริมให้ผู้ป่วยดูแลตนเอง เช่น อาบน้ำ แปรงฟัน เช็ดตัว การควบคุมการทำหน้าที่ของกระเพาะปัสสาวะและการเคลื่อนไหวของลำไส้ การชำระล้างบริเวณทวารและอวัยวะสืบพันธุ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ รวมทั้งเรียนรู้วิธีการทำกิจกรรมต่างๆ เช่นการเตรียมอาหารการทำความสะอาดบ้านและการขับรถ โดยผู้ดูแลต้องคอยกระตุ้นให้ผู้ป่วยทำกิจวัตรประจำด้วยตัวเองให้มากที่สุด เท่าที่ผู้ป่วยสามารถทำโดยที่อาจคอยช่วยเหลือเป็นกรณีไป ที่สำคัญคือ ควรให้กำลังใจ และส่งเสริมผู้ป่วยให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง

การฟื้นฟูสภาพจิตใจ ในผู้ป่วยหลอดเลือดสมองตีบ

นอกเหนือจากการดูแลด้านร่างกายแล้ว สิ่งหนึ่งที่นับว่าสำคัญ สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองคือ “ การดูแลด้านจิตใจ” ผู้ที่ดูแลจึงจำเป็นต้องเข้าใจพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ป่วย ซึ่งอาจมากหรือน้อยแตกต่างกันออกไปในผู้ป่วยแต่ละราย การเปลี่ยนแปลงสารเคมีในสมองที่มีผลต่อวิธีการคิด รู้สึกและปฏิบัติ  ผู้ป่วยจำนวนมากมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ จึงจำเป็นต้องได้รับคำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและรักษาโดยการใช้ยาเพื่อช่วยแก้ไขภาวะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้ หลังจากเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เช่น การปฏิเสธ ต่อต้านหรือต่อรอง, ภาวะซึมเศร้าและสิ้นหวัง สิ่งสำคัญคือต้องระบุปัญหาสุขภาพจิตให้ชัดเจนและได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

ทั้งนี้ผู้ดูแลผู้ป่วยเป็นเงื่อนไขสำคัญ ที่จะฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้กลับมาได้

ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด โรงพยาบาลพญาไท 3 ชั้น 16 
เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00 – 19.00 น.
Phyathai Call Center 1772 หรือ
โทร. 0-2467-1111 ต่อ 1603 และ 1602

Start typing and press Enter to search