อาการปวด เมื่อย ชา แขนขาอ่อนแรง ถือเป็นกลุ่มอาการที่เป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงหลายโรค อาทิ กลุ่มโรคออฟฟิศซินโดรม โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ฯลฯ และยังเป็นอาการที่ทำให้เราไม่สามารถใช้ชีวิต ทำกิจกรรมได้อย่างปกติและมีความสุขอีกด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย จึงทำให้มีแนวทางในการรักษาที่ช่วยบรรเทาอาการผิดปกติดังกล่าวได้ดีขึ้น โดยเครื่อง PMS ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการแพทย์ที่เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่อยากจะหายดี อยากมีอาการดีขึ้นจากความเจ็บปวด ที่มีประสิทธิภาพในการรักษามากที่สุดในปัจจุบัน

เครื่อง PMS คืออะไร ทำความรู้จักไว้เป็นทางเลือกเพื่อการรักษา

PMS หรือ Peripherl Magnetic Stimulation คือ เครื่องกระตุ้นระบบประสาทด้วยการใช้ระบบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งสามารถใช้ได้ผลดีกับโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาททั้งหมด ที่มีอาการชา แขนขาอ่อนแรง อัมพฤกษ์ อัมพาต ตลอดจนกลุ่มโรคเส้นประสาทใบหน้าอักเสบ บิดเบี้ยว นอกจากนั้นก็ยังใช้ได้ผลดีกับกลุ่มโรคที่มีอาการปวด ทั้งที่เป็นแบบปวดเรื้อรัง และปวดเฉียบพลัน โดยหลักการของเครื่อง PMS นั้น จะเป็นการส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปกระตุ้นตัวเส้นประสาท เพื่อส่งสัญญาณไปยังสมอง กระตุ้นให้สมองสั่งการส่งสัญญาณลงมายังบริเวณที่มีอาการ หรือมีโรคอยู่ ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของผู้ป่วยโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต แพทย์ก็จะทำการใช้เครื่อง PMS ส่งสัญญาณคลื่นแม่เหล็กกระตุ้นแขน ขา บริเวณที่เคลื่อนไหวไม่ได้ ให้ส่งสัญญาณไปที่สมอง และให้สมองส่วนที่ยังทำงานได้มีการฟื้นตัวมากขึ้น และส่งสัญญาณกลับลงมาทำให้แขนขาขยับได้มากขึ้น ส่วนในแง่ของการบำบัดรักษาอาการเจ็บปวดนั้น การกระตุ้นเส้นประสาทจะทำให้เกิดการส่งสัญญาณที่ช่วยยับยั้งอาการปวดได้ เพราะทำให้ขันสันหลังหรือสมอง มีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมี และหลั่งสารเคมีที่ช่วยลดอาการปวดออกมาได้

โรคที่รักษาด้วยเครื่อง PMS . ให้ผลการรักษาดี เช่น

  1. Office syndrome
  2. Stroke
  3. อาการชา เช่น ชาจากปลายประสาท เส้นประสาทถูกกดทับ (Carpel tunnel syndrome)
  4. อาการปวดจากเส้นประสาท เช่น อาการปวดหลังจากที่เป็นงูสวัด อาการปวดจากเส้นประสาทใบหน้า

ใครบ้างที่เหมาะกับการใช้ เครื่อง PMS?

กลุ่มที่เหมาะกับการใช้เครื่อง PMS ในการช่วยบำบัดรักษาฟื้นฟูอาการให้ดีขึ้น ได้แก่ ผู้ป่วยกลุ่มอาการโรคออฟฟิศซินโดรม นักกีฬาที่ได้รับบาดเจ็บจากการฝึกซ้อม หรือระหว่างแข่งขัน กลุ่มที่ประสบอุบัติเหตุทำให้เกิดอาการเคล็ด ขัดยอก ปวด ชา ตลอดจนกลุ่มผู้ป่วยโรคระบบประสาท อัมพฤกษ์ อัมพาต ทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีข้อห้าม และข้อควรระวังในการเข้าใช้เครื่อง PMS ที่ควรทราบเอาไว้ ดังต่อไปนี้

  • คนไข้จะต้องไม่เคยมีประวัติลมชัก
  • ไม่เป็นคนไข้ที่มีการใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ
  • คนไข้ที่มีโลหะติดตัว ในบริเวณที่จะทำการรักษา
PMS หรือ Peripherl Magnetic Stimulation คือ เครื่องกระตุ้นระบบประสาทด้วยการใช้ระบบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

มีขั้นตอนการรักษาอย่างไร เมื่อใช้เครื่อง PMS ?

สำหรับการใช้เครื่องกระตุ้นระบบประสาทด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า PMS นั้น ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษ เพียงแค่ตรวจสอบให้แน่ใจว่า ไม่ใช่กลุ่มผู้ป่วยต้องห้าม ก็สามารถเข้ารับการบำบัดรักษาด้วยเครื่อง PMS ได้ทันที โดยขั้นตอนในการรักษานั้น มีรายละเอียดสำคัญ ดังต่อไปนี้

  • กรณีกลุ่มโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต

จะทำการใช้เครื่อง PMS กระตุ้นตามแนวเส้นประสาทบริเวณที่เกิดโรค และตามแนวมัดกล้ามเนื้อที่มีปัญหา ก็จะช่วยให้อาการดีขึ้นได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับระยะของโรคตามอาการของแต่ละคนด้วย เนื่องจากรอยโรคในสมองไม่เท่ากัน สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มเป็นน้อยๆ อาการก็จะดีขึ้น ฟื้นตัวเร็วขึ้น ด้วยการทำใช้เครื่อง PMS อย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์ ภายในระยะเวลาประมาณ 1 เดือน แต่ถ้าเป็นกรณีพื้นที่ในสมองเสียหายมาก ก็จะต้องใช้เวลานานมากขึ้น และอาจฟื้นตัวได้ไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็จะมีอาการดีขึ้นกว่าการไม่รักษาเลย อย่างไรก็ตามสำหรับกลุ่มโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต นอกเหนือจากการรักษาด้วยเครื่อง PMS แล้ว ผู้ป่วยก็ควรได้รับการทำกายภาพบำบัดร่วมกันไปด้วย เพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อ และฝึกการใช้งานกล้ามเนื้อให้ได้มากที่สุด อันจะนำไปสู่ผลลัพธ์ของการรักษาที่ดีขึ้นได้ ทั้งนี้ เครื่อง PMS จะใช้ได้ผลดีที่สุดกับผู้ป่วยกลุ่มโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ที่อยู่ในระยะ 6 เดือน ถึง 2 ปีแรก เพื่อช่วยในการฟื้นตัวอาจจะเห็นผลน้อยลง แต่อาจจะช่วยในแง่ลดอาการเกร็ง

  • กรณีกลุ่มโรคที่มีอาการปวด

โดยกลุ่มอาการปวด จะแบ่งเป็นปวดจากระบบประสาทหรือปวดจากกล้ามเนื้อ  เครื่องกระตุ้นระบบประสาทด้วยคลื่นแม่เหล็ก PMS  โดยวิธีการใช้ก็ทำในลักษณะเดียวกันกับกลุ่มโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต คือใช้หัวของอุปกรณ์เครื่อง PMS กระตุ้นไปแนวบริเวณที่ปวด โดยไม่จำเป็นต้องทาน้ำยาใดๆ ทำผ่านเสื้อผ้าได้ และทำอย่างต่อเนื่องตามแพทย์แนะนำ ก็จะทำให้อาการปวดค่อยๆ ดีขึ้นและหายไปในที่สุด

  • ระยะเวลาในการรักษาต่อครั้งนานเท่าไร?

ในการใช้เครื่องกระตุ้นระบบประสาทด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า PMS นั้น ระยะเวลาต่อครั้งอยู่ที่ 10-20 นาที แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่และกลุ่มอาการเป็นสำคัญด้วย โดยหากเป็นกลุ่มอาการปวด ที่ปวดไม่มาก ปวดเพียงแค่บางจุด ไม่ได้ทั่วทั้งตัว ก็จะใช้เวลาน้อยกว่า แต่หากเป็นกลุ่มอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต ก็จะใช้ระยะเวลานานกว่า อาจจะประมาณ 20-30 นาทีต่อครั้ง ส่วนความต่อเนื่องว่าจะต้องทำกี่ครั้ง ยาวนานเท่าไร ก็ขึ้นอยู่กับระยะของโรคเป็นหลัก กล่าวคือ หากเป็นกลุ่มที่เพิ่งเป็น หรือเป็นมาเฉียบพลัน ภายในระยะเวลา 3-5 ครั้งก็จะเห็นผลดีขึ้น หรือบางรายอาจเพียงแค่ครั้งเดียวแล้วหายเลยก็ได้ แต่ถ้าเป็นกลุ่มอาการเรื้อรัง ที่เป็นมานานแล้ว ระยะเวลาความต่อเนื่องของจำนวนครั้งก็จะยาวนานมากขึ้น ตามลำดับความรุนแรงและระยะของโรค

มีผลข้างเคียงหรือไม่ กับการใช้เครื่อง PMS ?

ผลข้างเคียงที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการใช้เครื่องกระตุ้นระบบประสาทด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า PMS คือ อาจทำให้เกิดการระบมในระหว่างทำได้ แต่ทั้งนี้แพทย์จะทำการประคบเย็นให้ทันทีหลังจากการรักษาเสร็จสิ้น เพื่อให้อาการระบมหายไป แต่ก็ถือเป็นส่วนน้อยที่จะเกิดการระบมขึ้นได้ นอกจากนั้นแล้ว ในการใช้เครื่อง PMS นั้น จำเป็นจะต้องดำเนินการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เนื่องจากเป็นการรักษาที่เกี่ยวกับระบบประสาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากบริเวณที่ต้องทำการกระตุ้นรักษาเป็นบริเวณใบหน้า ก็ยิ่งต้องใช้ความระมัดระวัง ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์อย่างสูง เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด รวมถึงในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง คือปวดมาก หรือช่วยเหลือตัวเองได้น้อยอย่างอัมพฤกษ์ อัมพาต ก็จะเป็นต้องอาศัยการรักษาร่วมกันระหว่างแพทย์และนักกายภาพบำบัด เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างราบรื่น และมีประสิทธิภาพมากที่สุด

Peripherl Magnetic Stimulation (PMS) หรือ เครื่องกระตุ้นระบบประสาทด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่นำมาใช้รักษาผู้ป่วยในกลุ่มโรคระบบประสาทและกลุ่มผู้ที่มีอาการ ปวด ชา อ่อนแรงได้เป็นอย่างดี โดยในปัจจุบันจะมีใช้อยู่เฉพาะกับโรงพยาบาลใหญ่เท่านั้น ซึ่งหากวันนี้เราพบว่าตัวเองมีอาการปวด เมื่อย อ่อนแรง มีอาการชา หรือเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตอยู่ และต้องการรักษาให้มีอาการดีขึ้นล่ะก็ การเลือกใช้เครื่อง PMS ถือเป็นทางออกที่ตอบโจทย์และมีประสิทธิภาพในการรักษา อันจะนำพาเราไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้มากกว่าเดิม

พญ.จิตติมา อัยสานนท์

พญ.จิตติมา อัยสานนท์
แพทย์ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัดโรงพยาบาลพญาไท 3
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-467-1111 ต่อ 1601-1602

Start typing and press Enter to search