“ผู้สูงอายุ” มีแนวโน้มเกิดการถดถอยของสมรรถภาพร่างกายง่ายกว่าวัยอื่นๆ เป็นวัยที่ระบบต่าง ๆ ในร่างกายมีการเสื่อมสภาพ เนื่องจากร่างกายมีความเปลี่ยนแปลงไปมาก  อีกทั้งในผู้สูงอายุยังมีปัญหาทางด้านอารมณ์และจิตใจร่วมด้วย ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา ซึ่งมีการศึกษาจากหลายรายงานระบุว่า การออกกำลังกายสามารถช่วยป้องกันได้ โดยต้องทำอย่างสม่ำเสมอและเหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ อย่างไรก็ตามผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวเป็นทุนเดิม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกาย รวมถึงเลือกกิจกรรมออกกำลังกายที่เหมาะสมในแต่ละบุคคล

ความสำคัญของการออกกำลังกายในผู้สูงอายุ

การออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุมีวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างความแข็งแรงของระบบต่างๆในร่างกาย  โดยเฉพาะระบบหัวใจและหายใจ ช่วยชะลอความเสื่อมของระบบต่าง ๆ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงทนทานให้กับกล้ามเนื้อ เพิ่มความยืดหยุ่นของร่างกาย ปรับระบบการทำงานของระบบต่าง ๆ ให้มีความสมดุล

นอกจากความแข็งแรงแล้ว การออกกำลังในผู้สูงอายุ ในบางครั้งยังช่วยให้ผู้สูงอายุได้เข้าสังคม พบปะผู้คนในกรณีที่ออกกำลังกายนอกบ้าน นับว่าเป็นผลดีต่อสภาพจิตใจโดยตรง เรียกได้ว่าให้ประโยชน์ หลากหลาย

12 ประโยชน์ของการออกกำลังกายในผู้สูงอายุ

  1. ช่วยให้ระบบการไหลเวียนของเลือดทำงานได้ดี จึงสามารถ ลดอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ ป้องกันความดันโลหิตสูงและช่วยให้ไม่เป็นลมหน้ามืดง่าย
  2. การทำงานของอวัยวะต่างๆ มีการประสานกันดีขึ้น
  3. กล้ามเนื้อและข้อต่อยืดหยุ่นดีขึ้น และช่วยป้องกันโรคกระดูกผุ ทำให้กระดูกแข็งแรงไม่หักง่าย
  4. ทำให้การทรงตัวดีขึ้น เดินได้คล่องแคล่ว ลดความเสี่ยงการหกล้ม
  5. ช่วยผ่อนคลายลดความเครียด ลดความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล สุขภาพจิตดีขึ้น
  6. เพิ่มภูมิคุ้มกัน ความต้านทานโรค
  7. ผลต่อสมองและจิตใจทำให้การนอนหลับพักผ่อนดีขึ้น
  8. ช่วยให้ระบบการย่อยอาหารและขับถ่ายดีขึ้น
  9. ช่วยลดน้ำหนัก
  10. ลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม
  11. ช่วยชะลอความชรา ลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
  12. ช่วยรักษาโรคบางชนิดได้ พบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง สามารถลดระดับน้ำตาลและไขมันลงได้จากการออกกำลังกาย

ผู้สูงอายุที่ไม่ออกกำลังกายจะเป็นอย่างไร

ในผู้สูงอายุที่ขาดการออกกำลังกาย จะส่งผลให้ไม่กระฉับกระเฉงอีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น หลอดเลือดหัวใจอุดตัน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน อ้วน เป็นต้น นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดอาการปวดตามข้อต่างๆ กระดูกเปราะบาง เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ รวมถึงมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าได้ง่ายขึ้น

ผู้สูงอายุควรออกกำลังกายกี่นาที

ผู้สูงอายุควรออกกําลังกายอย่างต่อเนื่องนานประมาณ 30-45 นาที แต่ควรเริ่มต้นด้วยเวลาน้อยๆก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มเวลาการออกกำลัง โดยอาจจะเลือก กิจกรรมแบบแอโรบิค 150 นาที ต่อสัปดาห์ หรือกิจกรรมเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อ 2 วันต่อสัปดาห์ สามารถปรับเปลี่ยนกิจกรรมออกกำลังกายไปตามสภาพร่างกายของแต่ละคน  ที่สำคัญก่อนออกกำลังกายควรอบอุ่นร่างกายทุกครั้งประมาณ 10 นาที เพื่อเตรียมกล้ามเนื้อ และอย่าหยุดทันทีทันใดภายหลังออกกำลังกาย ให้เวลาในการ คูลดาวน์ ประมาณ 5-10 นาที เพื่อให้เลือดไหลกลับสู่หัวใจและสมอง ซึ่งจะลดอาการปวด เวียนศีรษะลงได้

ข้อควรระวังในการออกกำลังกายในผู้สูงอายุ

การออกกำลังกายในผู้สูงอายุมีความแตกต่างจากการออกกำลังกายในคนหนุ่มสาวมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกาย  เพื่อลดโอกาสการบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย เช่น มีการบาดเจ็บบริเวณกระดูก ข้อต่อ กระดูกอ่อน เอ็น และกล้ามเนื้อ เป็นต้น นอกจากนี้อาจมีเหงื่อออกมากเกินไป การขาดน้ำ หรืออาการหัวใจวายเฉียบพลัน  การออกกำลังกายที่ดีต้องทำอย่างถูกต้องและเหมาะสม ไม่หักโหม

เรียกได้ว่าการออกกำลังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ รวมไปถึงวัยอื่นๆ ด้วย เพราะว่าการออกกำลังกายมีผลดีต่อร่างกายหลายอย่างดังที่กล่าวมา ดังนั้นตัวผู้สูงอายุหรือผู้ดูแลควรให้ความสำคัญและสนับสนุนการออกกำลังกาย เพื่อประโยชน์ของตัวท่านเอง

พญ.จิตติมา  อัยสานนท์

ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด โรงพยาบาลพญาไท 3 ชั้น 16
โทร. 02-467-1111 ต่อ 1603,1602

Start typing and press Enter to search