อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง ศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาล พญาไท 3
การศึกษา : แพทยศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยรังสิต
ประสบการณ์ทำงาน : 16 ปี
ความเชี่ยวชาญพิเศษ : ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง

จากแพทย์ฝึกหัดใช้ทุน สู่การลงทุนใช้ชีวิตเพื่อรอยยิ้มผู้ป่วยโรคมะเร็ง

…ยิ่งได้ช่วยเหลือคนไข้มากขึ้นก็ยิ่งรู้สึกแฮปปี้
คือพอเราได้ช่วยเหลือคนไข้ ได้ไปดูแลแล้วเขาดีขึ้นเขาก็มาขอบคุณ ลูกหลานเขาก็รู้สึกขอบคุณ
นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกมีความภาคภูมิใจ…

เหตุผลสำคัญ ที่พาให้เลือกทำตามฝันก้าวสู่อาชีพแพทย์

สมัยนั้นคนรอบข้าง ญาติ หรือคุณอา แล้วก็คนรู้จัก เป็นหมอกันหมด เราเห็นเขาดูแลรักษาคนไข้แล้วดูรู้สึกน่าภาคภูมิใจ จนเรารู้สึกชอบงานด้านนี้ แต่จริงๆ ตอนนั้นก็ลังเลระหว่างเรื่องของวิศวะกับหมอเหมือนกัน แต่พอดูแล้วก็คิดว่า เราไม่ได้ชอบงานวิศวะมาก เราชอบงานด้านช่วยเหลือผู้ป่วย ช่วยเหลือคนมากกว่า ม.ปลายเราก็เลยเริ่มสนใจด้านนี้มากขึ้น ซึ่งพอได้ไปเรียน ได้ไปฝึก ก็รู้สึกดีกับวิชาชีพนี้มาก ยิ่งจบมาแล้วมีโอกาสออกไปใช้ทุนที่ต่างจังหวัด ก็ยิ่งทำให้มีประสบการณ์การรักษามากขึ้น ยิ่งได้ช่วยเหลือคนไข้มากขึ้น ก็ยิ่งรู้สึกแฮปปี้ คือพอเราได้ช่วยเหลือคนไข้ ได้ไปดูแลแล้วเขาดีขึ้น เขาก็มาขอบคุณ ลูกหลานเขาก็รู้สึกขอบคุณ นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกมีความภาคภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือคนไข้

อะไรเป็นแรงบันดาลใจ ให้ศึกษาเฉพาะทางต่อด้านโรคมะเร็ง

เรามองว่าคนไข้กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่น่าช่วยเหลือและมีความน่าสนใจ เป็นความท้าทายที่จะได้ช่วยยืดระยะเวลาคนไข้ให้ได้มากที่สุด เรารู้สึกว่าการได้ช่วยให้คนๆ หนึ่งมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น ได้หายจากโรคร้าย และได้กลับไปมีช่วงเวลาที่ดีกับครอบครัว ได้กลับมายิ้มได้อีกครั้ง แม้จะเป็นแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง เป็นสิ่งที่เราอยากทำให้ได้ ยิ่งตอนนั้นผลการรักษามะเร็งกำลังมีออกมาใหม่เรื่อยๆ ก็เลยยิ่งดูเป็นอะไรที่ท้าทายแล้วก็น่าเรียนรู้มาก เราอยากทำให้ได้มากๆ ก็เลยตัดสินใจมาเฉพาะทางด้านนี้ ซึ่งจริงๆ ต้องบอกว่าเกือบถอดใจแล้ว เพราะตอนนั้นสาขามะเร็งรับเฉพาะนักเรียนทุน แต่ไม่มีเปิดรับสมัครเลย 2 ปีติด คือคิดว่าตอนนั้นคงไม่ได้เรียนต่อแล้ว และก็คงทำงานด้านอายุรกรรมดูแลผู้ป่วยไปเรื่อยๆ จนกระทั่งปีที่ 3 พอดีอาจารย์โทรมาว่าปีนี้ว่างหนึ่งตำแหน่ง ก็เลยได้โอกาสไปเรียน และได้ทำตามที่ตั้งใจได้สำเร็จ

บริหารชีวิตและงานอย่างไร ให้ดีทั้งกับคนไข้และตัวเอง

จริงๆ สำคัญที่สุดเลยคือต้องพยายามแบ่งสรรเรื่องเวลานะครับ ยอมรับเลยว่าการเป็นแพทย์เป็นอะไรที่หนัก ทั้งตอนเรียนแล้วก็ตอนทำงาน เพราะเราต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง ต้องสั่งสมประสบการณ์ไปเรื่อยๆ จากตัวผู้ป่วยที่เป็นครูเรา ซึ่งก็ไม่ใช่แค่เรื่องโรคนะครับ แต่เราเองก็เรียนรู้ชีวิตประจำวันจากเขาด้วย ชีวิตครอบครัวเขา สิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา สิ่งเหล่านี้เราก็นำมามองย้อนดูครอบครัวเรา นำมาเป็นตัวอย่าง เป็นแนวทาง ไปปรับปรุง ไปแก้ไข การดำเนินชีวิตของตัวเราเองให้ดีขึ้น เราต้องบาลานซ์ระหว่างเรื่องงานกับชีวิตให้ได้ ในเวลางานก็เต็มที่ แต่ก็ต้องแบ่งเวลาใช้ชีวิตด้วย อย่างถ้าจะถามถึงงานอดิเรกจริงๆ ก็คือ การได้นั่งอ่านหนังสือที่บ้าน นิตยสารบ้านและสวน ที่เป็นเรื่องต้นไม้ การตกแต่งบ้านที่เราชอบ ได้ดูทีวี ได้อยู่กับลูกกับภรรยา ได้มีเวลาใช้ร่วมกัน แค่นั้นก็มีความสุขแล้ว

อยากฝากอะไร ถึงคนไข้ที่กำลังทุกข์ใจด้วยโรคมะเร็ง ?

การรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันมีข้อมูลการวิจัย ข้อมูลการรักษา ที่สะสมผ่านการเก็บข้อมูลจากคนไข้จริง ซึ่งก็คือเป็นครู ที่ทำให้ได้ผลการรักษาออกมาเป็นมาตรฐานการ จึงอยากให้คนไข้มีกำลังใจ ว่าป่วยเป็นมะเร็งแล้วใช่ว่าจะไม่มีทางรักษา แต่สำคัญคือเราต้องมาตรวจวินิจฉัยให้เร็ว เพราะสำหรับมะเร็งแล้ว ยิ่งพบเจอเร็วเท่าไรก็ยิ่งมีโอกาสหายสูงเท่านั้น ปัจจุบันสังคมยังมีบางส่วนที่เชื่อการรักษาทางเลือกที่ไม่มีข้อมูลสนับสนุน ซึ่งก็ควรจะชั่งน้ำหนักให้ดี เพราะบางคนที่เลือกเชื่อและรักษาตรงนั้น บางทีก็กลายเป็นทำให้เสียเวลาและเสียโอกาสได้ ทั้งๆ ที่ควรจะเป็นระยะที่หายขาดได้ ก็อยากฝากไว้ตรงนี้ อยากให้มีกำลังใจและเชื่อในเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันว่าสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งได้จริงๆ

Start typing and press Enter to search