นอกจากหลักการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ที่ทุกคนควรมีติดตัวเป็นอีกหนึ่งองค์ความรู้ที่สำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้นก่อนจะนำส่งแพทย์เพื่อการรักษาต่อไปนั้น อุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ควรจะมีให้พร้อม เก็บรักษาความสะอาดอย่างดี และที่ลืมไม่ได้คือควรหยิบใช้ได้ง่ายที่สุด

ชุดปฐมพยาบาลประจำบ้านที่เคยได้ยินกันมาตลอดนั้นควรประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ๆ คือ เอกสารแนะแนวทางปฐมพยาบาล หมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน และส่วนสำคัญที่สุดคือยาและอุปกรณ์ทำแผล ซึ่งครอบคลุมการปฐมพยาบาลเบื้องต้นแก่การบาดเจ็บที่พบได้บ่อย เช่น การพลัดตก หกล้ม ชนกระแทก การได้บาดแผลตัด ฉีก แทงทะลุ และการบาดเจ็บจากความร้อน ไฟฟ้า สัตว์กัด และการได้รับสารพิษ เป็นต้น

โดยส่วนสำคัญคือเครื่องมือในกล่องปฐมพยาบาลนั้น องค์ประกอบที่ต้องมีและขาดเสียไม่ได้เลยคือ อุปกรณ์ทำแผล ที่สามารถล้างแผล ห้ามเลือด และปิดแผลป้องกันเชื้อโรคได้ รวมถึงอุปกรณ์ที่สามารถหยุดการเคลื่อนไหวของกระดูกและข้อได้

อย่างเช่น ถุงมือ สำหรับให้ผู้ช่วยเหลือใส่ป้องกันไม่ได้สัมผัสถูกเลือด อาเจียน หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วยโดยตรง ตลอดจนสารเคมีที่ระคายเคืองผิวอีกด้วย กลุ่มยาล้างแผล-ใส่แผล เช่น น้ำเกลือล้างแผล แอลกอฮอล์ และโพวิโดน-ไอโอดีน และผ้ากอซ ที่ควรเตรียมไว้อย่างน้อย 2 – 3 ขนาด สำหรับแผลขนาดเล็กกลางใหญ่ และก่อนใช้ควรเก็บในซองพลาสติกเพื่อรักษาความสะอาด พลาสเตอร์เทปปิดแผลขนาดต่าง ๆ กรรไกร เทปติดแผล สำลี ไม้พันสำลี ส่วนการบาดเจ็บกล้ามเนื้อหรือข้อต่าง ๆ ควรมี ผ้ายืดสำหรับพัน เพื่อลดการบวม ลดการเคลื่อนไหว ตลอดจนผ้าคล้องแขน เตรียมไว้ใช้ก่อนจะส่งผู้ป่วยไปรับการรักษาต่อไป
ในส่วนของยาสำหรับรับประทาน เช่น ยาลดไข้ แก้ปวด ยาแก้แพ้ ผงเกลือแร่ รวมถึงยากระตุ้นการอาเจียน ควรจะมีให้ครบถ้วนและปิดในซองมิดชิดแยกกันไว้อย่างเป็นสัดส่วน พร้อมทั้งเขียนฉากให้อ่านง่าย และไม่ลืมระบุวันหมดอายุเอาไว้ให้ชัดเจน

เมื่ออุปกรณ์ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว การพาตัวเองและคนใกล้ชิดให้รอดพ้นจากอุบัติเหตุได้ ก็อยู่ที่การมีสติเรียบเรียงความรู้ต่าง ๆ ทั้งจากประสบการณ์ และจากเอกสารแนะนำวิธีปฐมพยาบาลมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้เหตุฉุกเฉินต่าง ๆ นั้นผ่านพ้นไปได้อย่างราบรื่น ให้ผู้ป่วยได้กลับมาดำเนินชีวิตต่อไปได้ในที่สุด

Start typing and press Enter to search