รู้จักลักษณะของอาการเครียด ว่าเป็นอย่างไร ? อันตรายแค่ไหน ? จะรับมือกับความเครียดได้อย่างไร ? และความเครียดแบบใดที่ควรพบแพทย์ ? ที่นี่มีคำตอบ 

ความเครียดคืออะไร ? อันตรายหรือไม่ ? ทำอย่างไรดี ?

ในบทความนี้มีข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับภาวะเครียด เพื่อเป็นแนวทางให้ท่านได้สังเกต และรู้เท่าทันความเครียด ตลอดจนสามารถจัดการความเครียดของตนเองให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้

ความเครียดคืออะไร ? จะสังเกตได้อย่างไรว่าตนเองมีความเครียด ? ความเครียดอันตรายแค่ไหน ? จะรับมือกับความเครียดได้อย่างไร ? และความเครียดแบบใดที่ควรพบแพทย์ ? ที่นี่มีคำตอบ

ความเครียดคืออะไร ?

ความเครียด คือ ภาวะทางอารมณ์ และความรู้สึกของบุคคลที่มีต่อสถานการณ์ โดยผู้ที่มีความเครียดมักรับรู้ได้ในลักษณะของความลำบากใจ ความไม่สบายใจ ความคับข้องใจต่อเหตุการณ์ หรือความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างที่เป็นสาเหตุของความเครียด

ความเครียด เป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยความเครียดในระดับที่พอดีนั้นช่วยให้บุคคลมีความตื่นตัว มีความกระตือรือร้น เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แต่ในทางกลับกัน หากความเครียดมากเกินไป จะเกิดผลเสียต่อร่างกายและจิตใจได้ โดยความเครียดที่รุนแรง จะส่งผลต่อความสามารถในการดำเนินชีวิตและตัดสินใจของบุคคล และอาจเป็นอาการแสดงเริ่มแรกของความเจ็บป่วยทางจิตเวชได้

แม้ว่าความเครียดจะเป็นความรู้สึก หรือภาวะทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นในจิตใจ แต่ส่วนมากความเครียดนั้นสามารถแสดงออกให้เห็นได้อย่างชัดเจนผ่านอาการทางร่างกายด้วย

จะสังเกตได้อย่างไรว่าตนเองมีความเครียด?

เมื่อบุคคลอยู่ในภาวะเครียด ร่างกายจะเกิดปฏิกิริยาตอบสนองเพื่อเตรียมพร้อมที่จะตอบโต้ต่อเหตุการณ์ หรือสิ่งที่มาคุกคาม ซึ่งปฏิกิริยาตอบสนองนั้น อาจจะเป็นการ “สู้” หรือ “ถอยหนี” ต่อเหตุการณ์ หรือสิ่งที่มาคุกคามก็ได้ โดยจิตใจและร่างกายของผู้ที่มีความเครียดอาจเกิดความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ จนสามารถสังเกตได้ เช่น

ทางร่างกาย ซึ่งผู้ที่มีอาการเครียดจะสามารถรู้สึกได้ว่าชีพจรของตนเองเต้นเร็วและแรงขึ้น หายใจตื้นและถี่ขึ้น เหงื่อออกง่าย ความดันโลหิตสูงขึ้นกว่าปกติ รู้สึกปวดเมื่อยและตึงตามร่างกาย เนื่องจากกล้ามเนื้อหดเกร็ง และมีอาการท้องอืด หรืออาการทางระบบย่อยอาหารที่ผิดปรกติเนื่องจากเส้นเลือดบริเวณอวัยวะย่อยอาหารหดตัว

ทางพฤติกรรม ซึ่งผู้ที่มีอาการเครียดจะรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถอยู่นิ่ง ๆ ได้ บางคนอาจเห็นได้ว่าผุดลุกผุดนั่ง นั่งไม่ติดที่ บางคนมีพฤติกรรมกัดฟัน กัดเล็บ กระทืบเท้า ดึงผม มีพฤติกรรมการนอนที่เปลี่ยนไป เช่น อาจนอนมากขึ้น หรือนอนน้อยลง

และทางจิตใจ ซึ่งผู้ที่มีอาการเครียดจะรู้สึกว่าตนเองขาดสมาธิ ตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ได้ลำบากขึ้น มีอาการหงุดหงิด รู้สึกหมดความมั่นใจ และเกิดความกลัวโดยที่ตนเองรู้สึกว่าไร้เหตุผลที่ต้องกลัวเช่นนั้น ในบางรายที่มีอาการเครียดจะมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย จนอาจแสดงออกให้เห็นโดยการเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวขึ้นได้

โดยอาการเหล่านี้ ควรจะดีขึ้นเมื่อเหตุการณ์ที่เป็นสาเหตุของความเครียดนั้นผ่านไป โดยร่างกายและจิตใจจะสามารถกลับมาสู่สภาวะปกติได้

แต่ความเครียดที่เป็นอันตราย จะเป็นความเครียดที่เกิดขึ้นมากเกินความจำเป็น เกิดขึ้นบ่อย ๆ และยังคงอยู่ ไม่ลดหรือหายไปตามเรื่องราวสถานการณ์  หรือเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุการณ์กระตุ้นที่ชัดเจน

ความเครียดอันตรายแค่ไหน กระทบต่อชีวิตอย่างไร ?

หากความเครียดของคุณเกิดขึ้นอย่างมาก และบ่อย ย่อมส่งผลเสีย ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพใจ

  • ผลต่อสุขภาพทางกาย :ความเครียดส่งผลต่ออาการไม่สบายทางกายต่าง เช่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และมีภาวะเครียดสะสมเป็นเวลานาน อาจก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา เช่น ความผิดปกติของหัวใจ ความดันโลหิตสูง ไมเกรน โรคกระเพาะ อาการท้องผูกท้องหรือท้องเสียบ่อย ๆ นอนไม่หลับ หอบหืด เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น
  • ผลต่อสุขภาพจิตใจ : ความเครียดที่เกิดขึ้นระยะยาวอาจนำไปสู่ โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ อาการกลัวแบบไร้เหตุผล อารมณ์ไม่มั่นคง และเปลี่ยนแปลงง่าย

สุขภาพการและจิตใจที่ได้รับผลกระทบจากความเครียดจะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการเรียน การทำงานลดลง ความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้าง ครอบครัวและบุคคลแวดล้อมเกิดปัญหาขึ้นตามมา

นับว่าความเครียดที่ไม่สามารถจัดการได้นั้น จะเป็นภัยคุกคามต่อการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นอย่างมากทีเดียว

จะรับมือกับความเครียดได้อย่างไร ?

เราสามารถรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้นได้ด้วย ฝึกรับรู้ว่าร่างกาย อารมณ์จิตใจ และพฤติกรรมของตนเองมีความเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากความเครียดอย่างไร หากพบว่ามีลักษณะที่บ่งบอกถึงภาวะเครียด ให้พิจารณาถึงเหตุการณ์และเรื่องราวที่กระตุ้นให้เกิดความเครียด ปรับเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อเหตุการณ์ให้เป็นไปในทางบวก มองหาข้อดีของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มองหาสิ่งที่เป็นความหวัง ลงมือจัดการกับสิ่งที่สามารถแก้ไขจัดการได้ด้วยความมีสติ เช่น การเป็นตัวของตัวเอง ไม่เปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น การให้อภัย รวมถึงปล่อยวางในสิ่งที่ไม่สามารถแก้ไขได้

จัดการอารมณ์ที่เกิดขึ้นโดยลองเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น ทำในสิ่งต่าง ๆ ในลักษณะที่สบาย ๆ หากิจกรรมอื่น ๆ ทำเพื่อคลายเครียด ลองพยายามปรับสภาพแวดล้อมให้สดชื่น สดใส เช่น จัดโต๊ะทำงาน จัดห้องนอนใหม่ รวมถึงปรับตัวเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ปรับทัศนคติให้บวกมากขึ้น สร้างสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน คนรักรวมถึงคนในครอบครัว

หากภาวะเครียดที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต อาจเลือกพบจิตแพทย์ เพื่อพูดคุยปรึกษา ทบทวน หาสาเหตุที่จริงของความเครียด และประเมินว่ามีโรคทางจิตเวชอื่นที่ต้องรักษาร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งอาจมีวิธีการรักษาอื่น ๆ ที่จิตแพทย์แนะนำ เช่น การรับประทานยา การทำจิตบำบัด การรักษาด้วยไฟฟ้า เป็นต้น

ความเครียดแบบใดที่ควรพบแพทย์ ?

ท่านควรปรึกษาจิตแพทย์ เมื่อท่านพบว่าตนเองไม่สามารถจัดการความเครียดได้ หรือเป็นอยู่นานติดต่อกันมากกว่า 2 สัปดาห์ หรือมีความรุนแรงมากจนกระทบต่อการใช้ชีวิต ส่งผลให้เกิดความผิดปรกติอื่น ๆ ตามมา เช่น อารมณ์แปรปรวนง่าย รู้สึกอ่อนเพลียไม่มีเรี่ยวแรง สมาธิไม่ดี นอนไม่หลับ หรือคิดวนเวียนถึงแต่การจบชีวิตตนเองจนทำให้รู้สึกทุกข์ทรมานอย่างมากในจิตใจ เพื่อรับการประเมิน และการรักษาต่อไป

ความเครียดเป็นภาวะปรกติ แต่ความเครียดที่รุนแรง เรื้อรัง ก็อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต และส่งผลต่อตนเอง และคนรอบข้าง การเลือกพบจิตแพทย์เพื่อปรึกษา และรับการบำบัด อาจเป็นอีกทางเลือกของการแก้ปัญหาอย่างถูกวิธี

 

เอกสารอ้างอิง

Start typing and press Enter to search