สถิติบ่งบอกว่าคนไทยมีบุตรน้อยลง แต่งงานช้า มีบุตรช้า และมักเลือกที่จะมีบุตรเพียงแค่ 1 คน หลายๆ ครอบครัวรอจนพร้อมในทุกๆ ด้านจึงค่อยตัดสินใจวางแผนที่จะมีบุตร แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนที่อยากจะมีบุตร ก็มีได้ทันที ปัญหาการมีบุตรยากจึงเป็นสิ่งที่มาพร้อมกับปัญหาการมีบุตรน้อย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอายุที่มากขึ้นของทั้งว่าที่คุณพ่อ และว่าที่คุณแม่ เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงและการผิตปกติของท่อนำไข่ ที่เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงเรามีบุตรยากนั่นเอง ดังนั้น การทำความเข้าใจเกี่ยวกับท่อนำไข่ จึงเป็นสิ่งที่ว่าที่คุณพ่อและว่าที่คุณแม่ ต้องศึกษาเอาไว้อย่างไม่ควรละเลย

ปัญหาการมีบุตรยาก ปัญหาของใคร

ครอบครัวใดก็ตามที่พบว่ากำลังมีปัญหาการมีบุตรยาก สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรทำคือ การหาว่าเป็นความผิดของใครกันแน่ สิ่งที่ควรทำคือ พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ตรวจสุขภาพทั้งสองฝ่าย เพราะอาจพบสาเหตุที่เป็นไปได้จากทั้งสองฝ่าย โดยสาเหตุจากฝ่ายหญิงที่มักพบได้บ่อยเช่น

  • ระบบสืบพันธุ์ผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด
  • การติดเชื้อ
  • ความผิดปกติของระบบฮอร์โมนทำให้ไม่มีการตกไข่
  • ผนังมดลูกเจริญเติบโตไม่ดี
  • พบท่อนำไข่อุดตัน พังผืด หรือเนื้องอกในมดลูก
  • เยื่อผนังมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)

ท่อนำไข่อุดตัน คืออะไร มีผลอย่างไร

ท่อนำไข่ (Uterine tube) เป็นหนึ่งในอวัยวะภายในของเพศหญิงมีอยู่ 2 ท่อ ซ้ายและขวา มีหน้าที่นำไข่และอสุจิให้มาผสมกันในท่อนำไข่ และนำไข่ที่ผสมแล้วกลับสู่โพรงมดลูก เพื่อการฝังตัวในเยื่อบุมดลูก ท่อนำไข่เป็นท่อมีขนาดยาวประมาณ 10 เซนติเมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติ เมตร

เมื่อมีเพศสัมพันธ์ในช่วงตกไข่ อสุจิจะเดินทางจากช่องคลอด ผ่านเข้าโพรงมดลูก เข้าสู่ท่อนำไข่ และมักจะมาพบกับไข่ในบริเวณตอนกลางของท่อนำไข่ แล้วเกิดการผสมพันธุ์กับไข่ ผู้หญิงที่มีภาวะท่อนำไข่อุดตัน ซึ่งอาจเกิดขึ้นข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ การอุดตันนี้ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก หากท่อนำไข่ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างเกิดการอุดตัน ไข่ก็ไม่สามารถมาที่มดลูกได้ และอสุจิก็ไม่สามารถมาถึงไข่ได้ ทำให้ไม่เกิดการปฏิสนธิและการตั้งครรภ์

ส่วนกรณีที่การอุดตันไม่สมบูรณ์ ก็มักมีความเสี่ยงในการเกิดการตั้งครรภ์ที่เรียก ว่า “ท้องนอกมดลูก” (ectopic pregnancy)  โดยเมื่อเกิดการอุดตันบางส่วน ไข่บางส่วนยังมีโอกาสเดินทางมาตามท่อนำไข่ได้ ไข่ก็ยังมีโอกาสเกิดการผสมกับอสุจิได้ แต่เพราะการอุดตันบางส่วนทำให้ไข่ที่ผสมแล้วไม่เดินทางกลับเข้าโพรงมดลูก แต่กลับไปฝังตัวในผนังท่อนำไข่แทน

ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ ปรึกษาหมอ

อาการและการตรวจวินิจฉัย

ท่อนำไข่อุดตันนั้น มักไม่แสดงอาการใดให้เห็น จะวินิจฉัยภาวะท่อนำไข่อุดตันได้จากการตรวจพิเศษทางรังสี เรียกว่าการตรวจฉีดสีดูท่อนำไข่และมดลูก (hysterosalpingogram หรือ HSG) การตรวจนี้เป็นการฉีดสารทึบรังสีผ่านทางปากมดลูกโดยใช้ท่อเล็ก ๆ เมื่อฉีดสารทึบรังสีเข้าไปแล้ว แพทย์จะถ่ายภาพเอกซเรย์เพื่อตรวจสอบต่อไป ถ้าคุณกำลังพบปัญหาการมีบุตรยาก ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจว่าเป็นสาเหตุจากท่อนำไข่อุดตันหรือไม่ เพื่อจะได้ทำการรักษาต่อไป

การผ่าตัดท่อนำไข่อุดตันด้วยการผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็ก

การผ่าตัดตกแต่งท่อนำไข่ในผู้ที่มีท่อนำไข่อุดตัน ซึ่งทำโดยการผ่าตัดตกแต่งให้เกิดรูเปิดใหม่ของท่อนำไข่ ทำการเลาะพังผืด เป็นการส่องกล้องผ่านช่องท้องเข้าไปดูว่ามีปัญหาอย่างไร ที่จุดไหน และทำการผ่าตัดแก้ไขไปด้วยได้เลย การผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็ก หรือ MINIMALLY INVASIVE SURGERY (MIS) มีแผลเล็ก เจ็บน้อย และฟื้นตัวเร็วเนื่องจากเปิดปากแผลน้อย ผลกระทบต่อเนื้อเยื่อและอวัยวะภายในจึงน้อยตามไปด้วย ทำให้หลังผ่าตัดรู้สึกเจ็บปวดน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเดิมมาก  หลังจากการผ่าตัดผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้เร็วขึ้น

ด้วยเทคโนโลยีการผ่าตัดส่องกล้องนี้ ทำให้สามารถวินิจฉัยและรักษาด้วยการผ่าตัดได้สะดวก รวดเร็ว และได้ผลลัพธ์ที่ดีมาก ทั้งนี้การที่จะต้องทำการรักษาท่อนำไข่อุดตัน ด้วยการผ่าตัดหรือไม่ จำเป็นต้องปรึกษากับแพทย์ ซึ่งทางแพทย์จะมีการสักถาม และอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงผลที่ได้ และความจำเป็น ซึ่งรวมถึงความต้องการมีบุตรของคนไข้ประกอบการพิจารณาด้วย

ครอบครัวจะสมบูรณ์แบบได้ ก็ด้วยการมีลูกน้อยมาคอยเติมเต็ม ดังนั้น เราจึงต้องเต็มที่กับการดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเอง ทั้งคุณผู้หญิงและคุณผู้ชาย หมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงดีและพร้อมที่จะมีเจ้าตัวเล็กที่เป็นความสุขที่สุดอย่างหนึ่งของการมีชีวิต

Start typing and press Enter to search