เมื่อเอ่ยถึงการ ผ่าตัดกระดูกสันหลัง แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่มองการผ่าตัดลักษณะนี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นความน่ากังวลของทั้งตัวผู้ป่วยเองและญาติ จึงมักจะเกิดคำถามขึ้นมากมาย นอกจากนี้ยังคิดว่าการผ่าตัดเกี่ยวกับกระดูกสันหลังเป็นเรื่องที่พบได้ในผู้สูงอายุ แต่แท้จริงแล้ว ความจำเป็นในการผ่าตัดกระดูกสันหลังสามารถเกิดได้ทั้งในวัยรุ่น และวัยทำงาน โดยมาจากหลายสาเหตุ อาทิ อุบัติเหตุ ขับรถชนกระแทกที่มีผลต่อกระดูกสันหลังถึงขั้นแตกหรือเคลื่อน หรือจากกีฬาที่เกิดการกระแทกต่อกระดูกสันหลัง เช่น ฟุตบอล อเมริกันฟุตบอล กระโดดบันจี้จัมพ์ และโรคจากความเสื่อมของโครงสร้างกระดูก เนื้องอก ภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ฯ โดยที่ไม่สามารถรักษาได้อื่นๆ เช่นการรักษาด้วยยา กายภาพบำบัด ฝังเข็ม  แนวทางการผ่าตัดจึงเป็นวิธีสุดท้ายที่แพทย์นำมาใช้รักษาผู้ป่วย

อาการลักษณะใด ที่จำเป็นต้อง “ผ่าตัดกระดูกสันหลัง”?

โดยทั่วไปก่อนเข้าสู่การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาตามขั้นตอนมาก่อนหน้านี้ แต่เมื่อรักษาด้วยวิธีอื่นๆ แล้วไม่เห็นผล ผู้ป่วยยังคงทรมานกับโรคที่เกิดขึ้น แพทย์จึงแนะนำให้เข้ารับการผ่าตัดกระดูกสันหลัง รวมไปในกรณีอุบัติเหตุ และการตรวจวินิจฉัยพบอาการรุนแรง เนื่องจากผู้ป่วยบางรายมาพบแพทย์ก็ต่อเมื่ออาการรุนแรง ดังนั้นบางรายอาจจะต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาเป็นอันดับแรก เช่น ในรายที่มีอาการปวดหลังรุนแรง,น้ำหนักลด, มีไข้,  กล้ามเนื้อบริเวณโดยรอบเกิดการลีบ,มีการอ่อนกำลังของกล้ามเนื้อ มือแขนไหล่ ขา เข่า ข้อเท้า,ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างปกติ และไม่สามารถควบคุมร่างกายโดยเฉพาะระบบขับถ่ายได้เป็นต้น

ผู้สูงอายุ “ผ่าตัดกระดูกสันหลัง” อันตรายหรือไม่ ?

คำว่า “ผู้สูงอายุ” ในที่นี้ถ้าดูตามอายุอาจจะไม่สามารถบอกได้แน่ชัด เพราะขึ้นอยู่เฉพาะราย ผู้สูงอายุบางท่านสภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวก็สามารถเข้ารับการรักษาได้โดยที่มีข้อระมัดระวังน้อย แต่ในผู้สูงอายุบางรายที่มีโรคประจำตัวหลากหลายโรค จำเป็น จำเป็นต้องได้รับการตรวจโดยละเอียดจากแพทย์เกี่ยวกับโรคประจำตัวนั้นๆ เพื่อประเมินสุขภาพโดยรวม และการทำงานของอวัยวะสำคัญ เช่น การทำงานของหัวใจ ไต และปอด เป็นต้น หากตรวจพบว่าแข็งแรงพอแพทย์จะอนุญาตให้เข้ารับการผ่าตัด

การผ่าตัดกระดูกสันหลัง ที่ปลอดภัยควรผ่าตัดวิธีใด?

ปัจจุบันการผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้อง Microscope ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นทางเลือกที่ได้รับการยอมรับและแพร่หลาย เป็นหนึ่งในการผ่าตัดบาดเจ็บน้อย กระทบต่อเนื้อเยื่อโดยเฉพาะกล้ามเนื้อให้น้อยที่สุด หลักการคือเป็นการผ่าตัดผ่านกล้อง Microscope แพทย์สามารถมองเห็นจุดบกพร่องได้ชัดเจน โดยในขณะผ่าตัดมองผ่านกล้องที่มีกำลังขยายสูง ลดปริมาณเลือดออกในการผ่าตัด มีอัตราการติดเชื้อต่ำ ทำให้คนไข้ใช้เวลาพักฟื้นน้อยลง สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติเร็วขึ้น และลดเวลาในการนอนโรงพยาบาล ลดการเกิดแผลเป็นในโพรงกระดูกสันหลัง ทำให้ถ้าต้องมีการผ่าตัดในครั้งต่อไปทำได้ง่ายขึ้น

อีกทั้งการผ่าตัดแผลเล็กผ่านกล้อง Microscope นอกจากจะไม่ทำลายโครงสร้างกระดูกสันหลังปกติแล้ว ยังเน้นเรื่องการรักษาความเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังให้อยู่ในสภาพเดิมมากที่สุด

หลังผ่าตัดกระดูกสันหลังแล้วจะหายดีหรือไม่?

ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดที่ได้รับการผ่าตัดกระดูกสันหลัง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผลการรักษามักเป็นไปในทางที่ดี ทั้งนี้ผลการรักษา ขึ้นอยู่กับโรคและความรุนแรงของโรคก่อนเข้ารับการรักษา เช่น เกิดการถูกทำลายของเส้นประสาท การกระทบต่ออวัยวะโดยรอบก่อนเข้ารับการรักษามากน้อยเพียงใด

นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับเทคนิคการผ่าตัดของแพทย์แต่ละท่านด้วย หากเลือกใช้เทคนิควิธีการผ่าตัดที่เหมาะสม แพทย์มีความชำนาญพอจะส่งผลให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ป่วยได้สูง โดยได้รับความเสี่ยงน้อยลง

ดูแลตัวเองอย่างไรหลังผ่าตัดกระดูกสันหลัง

ผู้ป่วยบางรายเมื่อผ่าตัดรักษาแล้วผลการรักษาดีมาก แต่บางรายอาจต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟู การทำกายภาพบำบัดเพื่อให้กล้ามเนื้อกลับมาอยู่สภาพเดิมใช้เวลามากขึ้น เคร่งครัดเรื่องดูแลตนเองหลังการผ่าตัดเป็นอย่างดี ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตัว การออกกำลังกาย กายทำกายภาพ ลดความเสี่ยงต่างๆ เช่น การยกของหนัก การควบคุมน้ำหนักตนเอง เป็นต้น

Start typing and press Enter to search