หลังการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยควรได้รับการกายภาพบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ เนื่องจากการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ เป็นการผ่าตัดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม การฟื้นตัวภายหลังการผ่าตัดเป็นสิ่งสำคัญ ในการประเมินความสำเร็จของการผ่าตัด และภาวะสุขภาพของผู้ป่วย

กายภาพบำบัดหลังผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ จำเป็นแค่ไหน?

การทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูหลังผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ เป็นกระบวนการที่จะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวหลังการผ่าตัดได้ดี กระตุ้นให้ผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างถูกต้อง  สามารถกลับมาทำกิจวัตประจำวันได้อย่างปลอดภัย สามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด ลดระยะวันนอนในโรงพยาบาล ผู้ป่วยสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นใจในการกลับไปทำงานหรือเล่นกีฬา อีกทั้งช่วยลดโอกาสในการเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้อีก 20 – 40% ลดอัตราการเสียชีวิตในระยะยาวจากภาวะตีบซ้ำของหลอดเลือดหัวใจได้ ช่วยให้การทํางานของเซลล์และผนังหลอดเลือดของร่างกายให้ดีขึ้น การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจโดยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและนักกายภาพบำบัดจะเข้ามาดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดร่วมกับแพทย์ที่ทำการรักษาผ่าตัด

ต้องเริ่มทำกายภาพบำบัดผู้ป่วยตั้งแต่อยู่ที่โรงพยาบาล

การฟื้นฟูผู้ป่วยหลังผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจด้วยกายภาพบำบัดต้องเริ่มฟื้นฟูตั้งแต่อยู่ในโรงพยาบาล เพื่อป้องกันผลกระทบจากการนอนนาน ขาดการเคลื่อนไหวร่างกาย เกิดภาวะความดันเลือดต่ำจากการเปลี่ยนท่าทาง หรือการเกิดลิ่มเลือดดำอุดตัน ดังนั้นจำเป็นต้องส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีสมรรถภาพในการทำกิจกรรมกิจวัตรประจำวันได้อย่างมั่นใจและปลอดภัย ตลอดจนสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันที่บ้านโดยมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง รวมถึงการออกกำลังกายที่ถูกต้องและเหมาะสม โดยนักกายภาพบำบัดจะประเมินผู้ป่วยร่วมกับทีมแพทย์และพยาบาล ออกแบบรูปแบบการฝึกกิจกรรมการออกกำลังกายที่เหมาะสมเพื่อเตรียมความพร้อมผู้ป่วยก่อนกลับบ้าน

การออกกำลังกายในระยะนี้ เริ่มต้นที่ระดับความหนักต่ำ ๆ ทีละน้อย และเเนะนำวิธีการจับชีพจรและระดับความเหนื่อย เป็นวิธีการที่สะดวก และมีประโยชน์ ทำให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยในการออกกำลังกายที่ระดับที่เหมาะสม เกิดการพัฒนาสมรรถนะของระบบหัวใจและหลอดเลือด และสมรรถภาพร่างกาย

การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ หลังออกจากโรงพยาบาล

เมื่อผู้ป่วยออกโรงพยาบาลประมาณ 4 – 12 สัปดาห์ ผู้ป่วยต้องมีความเข้าใจและสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การคุมอาหารให้ถูกต้องเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงโรคประจำตัวตามหลักโภชนาการ วิธีจัดการความเครียด การเลิกสูบบุหรี่  ส่วนการออกกำลังกาย นักกายภาพบำบัดจะแนะนำการปรับความหนักของการออกกำลังกาย และเทคนิคการออกกำลังกายแบบแอโรบิก และการออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน เช่นการยกน้ำหนักเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของแขนและขา การปั่นจักรยาน โดยเน้นให้ผู้ป่วยมีสมรรถภาพร่างกายสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ตามศักยภาพของผู้ป่วยแต่ละรายและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์แนะนำ เป็นการลดความเครียดได้อีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ควรแบ่งการออกกำลังกายออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ช่วงที่ 1 เป็นการอบอุ่นร่างกาย ใช้ระยะเวลาประมาณ 5 – 10 นาที ช่วงที่ 2 เป็นการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง ใช้เวลาประมาณ 20 – 60 นาที และช่วงที่ 3 คือช่วงผ่อนคลายกล้ามเนื้อจะใช้เวลาประมาณ 5 – 10 นาที โดยระยะแรกผู้ป่วยอาจเริ่มออกกำลังกายในระยะเวลาสั้น ๆ จาก 5 -10 นาที แล้วค่อยเพิ่มความนานเป็น 20 – 30 นาที โดยขึ้นอยู่กับอัตราเต้นชีพจรที่ตอบสนองต่อการออกกกำลังกายและความเหนื่อย หรือความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อ  ผู้ป่วยควรกำหนดความถี่ของการออกกำลังกาย ให้ได้ 3 – 5 วันต่อสัปดาห์

อาการที่บ่งชี้ว่าควรหยุดออกกำลังกาย

หากผู้ป่วยมีอาการต่าง ๆ ต่อไปนี้ ขณะออกกำลังกาย ควรหยุดออกกำลังกายทันที

  • อาการเจ็บแน่นหน้าอก หรืออาการปวดบริเวณคอ ขากรรไกร และปวดร้าวลงต้นแขนซ้าย
  • ใจสั่น
  • มีอาการมึนหรือปวดศีรษะ
  • อาการคลื่นไส้ อาเจียน
  • สายตาพร่ามัว
  • อึดอัดหายใจไม่ออก
  • หน้ามืดจะเป็นลม

นอกจากนี้ผู้ป่วยไม่ควรออกกำลังกาย เมื่อมีไข้ ท้องเสียหรือปวดศีรษะ รวมทั้งช่วงที่ฟื้นไข้ใหม่ ๆ หลังรับประทานอาหารใหม่ และในสภาพอากาศที่ร้อนจัดหรืออบอ้าว

ควรฟื้นฟูหัวใจต่อเนื่อง เพื่อคงสภาพร่างกายที่ดีต่อไป

ดำเนินชีวิตแบบมีแบบแผน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในที่ดี เช่น การเลิกบุหรี่ การเลือกรับประทานอาหารและการออกกำลังกายเพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยง ทำให้มีสุขภาพดีอย่างต่อเนื่อง ลดโอกาสการเป็นซ้ำ

การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความทนทาน โดยออกกำลังกายกล้ามเนื้อมัดใหญ่แบบใช้ออกซิเจน (แบบแอโรบิค) เช่น การยกแขน ขา การวิ่งเหยาะ ๆ การว่ายน้ำ การขี่จักรยาน วิธีการออกกำลังกายเหล่านี้จะช่วยให้มีการไหลเวียนเลือดมาเลี้ยงกล้ามเนื้อมากขึ้น ช่วยให้การเผาผลาญพลังงานแบบใช้ออกซิเจน ทำให้สมรรถภาพร่างกายดีขึ้น

อย่างไรก็ตามการกายภาพบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยหลังผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ ควรได้รับคำแนะนำจาก    นักกายภาพบำบัดและทีมแพทย์ พยาบาล โดยมีการติดตามผล พบแพทย์ตามนัด ออกกำลังตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการออกกกำลังกายไม่เหมาะสม

ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด โรงพยาบาลพญาไท 3 ชั้น 16
เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00 – 19.00 น.
Phyathai Call Center 1772 หรือ
โทร. 0-2467-1111 ต่อ 1603 และ 1602

ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ (ไม่เสียค่าใช้จ่าย)

    ชื่อ

    นามสกุล

    Email

    เบอร์โทร

    ข้อความ

    Start typing and press Enter to search