ภาวะตกเลือดหลังคลอดคืออะไร

ภาวะตกเลือดหลังคลอดคือ  ภาวะเสียเลือดมากเกิน 1000 ml ภายหลังจากที่คลอดรกเรียบร้อยแล้ว แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

  1. ตกเลือดแบบเฉียบพลัน ภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด
  2. ตกเลือดในภายหลัง หมายถึงการตกเลือดที่เกิดภายหลังจากคลอดบุตรไปแล้ว 24 ชั่วโมง จนถึง12 สัปดาห์หลังคลอด

การตกเลือดหลังคลอดบุตรหากตรวจพบในระหว่างที่อยู่ในโรงพยาบาลสูติแพทย์จะเป็นผู้ดำเนินการในการรักษา แต่ภาวะตกเลือดภายหลังจากออกจากโรงพยาบาลเป็นเรื่องที่คนไข้ควรเฝ้าระวังอาการและความผิดปกติด้วยตนเอง

สาเหตุของการตกเลือดในภายหลัง

การตกเลือดในภายหลัง ส่วนมากจะแสดงอาการภายใน 1-2 สัปดาห์หลังคลอดบุตร สาเหตุเกิดจากการที่มดลูกไม่สามารถหดรัดตัวเพื่อลดระดับกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ร่วมกับมีเลือดออกผิดปกติหรืออีกนัยหนึ่งคือมดลูกไม่สามารถเข้าอู่ได้นั่นเอง โดยมีสาเหตุเกิดจาก

  1. มีภาวะติดเชื้อภายในโพรงมดลูก
  2. มีเศษรกค้างภายในโพรงมดลูก
  3. มีแขนงของเส้นเลือดโป่งพองภายในโพรงมดลูก

อาการของการตกเลือดในภายหลัง 1. มีลักษณะของน้ำคาวปลา(lochia) ที่ผิดปกติ

โดยปกติภายหลังคลอดบุตรจะมีน้ำคาวปลา ( lochia )ทั้งหมด 3 ระยะ

ระยะที่ 1 : ภายหลังคลอดบุตร 3-4วันแรก น้ำคาวปลาจะเป็นสีแดง เรียกว่า Lochia rubra

ระยะที่ 2 : ภายหลังคลอดบุตร 4-10 วัน น้ำคาวปลาจะเป็นสีแดงจางๆคล้ายสีน้ำล้างเนื้อ เรียกว่า lochia serosa

ระยะที่ 3 : ภายหลังคลอดบุตร 10วันเป็นต้นไป น้ำคาวปลาจะเริ่มเป็นสีเหลือง-ขาว เรียกว่า Lochia alba และโดยทั่วไปน้ำคาวปลาจะมีได้ถึงเฉลี่ยที่ 36วัน ภายหลังจากการคลอดบุตร

ดังนั้นภายหลังจากกลับบ้านไปหากคนไข้พบว่ามีลักษณะของน้ำคาวปลาที่ผิดปกติเช่น เป็น สีแดงตลอดโดยไม่จางลงหรือ มีลักษณะของเลือดออกเป็นลิ่มๆ ภายหลัง 10 วันจากการคลอดบุตร ถือว่าเป็นอาการอย่างหนึ่งของภาวะตกเลือดในภายหลัง

2. มดลูกไม่เข้าอู่ตามปกติ (Uterine Subinvolution)

โดยปกติภายหลังจากการคลอดบุตร มดลูกจะมีการหดรัดตัวเพื่อป้องกันการเสียเลือดและลดขนาดลงเหลือต่ำกว่าระดับสะดือเล็กน้อยโดยทันทีและหลังจากนั้นจะมีการลดระดับลงอย่างช้าๆ โดยภายหลังคลอดบุตร2 วัน มดลูกจะเหลือขนาดเท่ากับตอนตั้งครรภ์ 4 เดือน (ความยาวมดลูกจากอัลตราซาวน์อยู่ที่ 16-18 เซนติเมตร )และที่7 วันภายหลังคลอดบุตร มดลูกจะลดขนาดลงอยู่ที่ระดับเหนือหัวหน่าว หรือขนาดเท่ากับตอนตั้งครรภ์ 3 เดือน (ความยาวมดลูกจากอัลตราซาวน์อยู่ที่ 12-13 เซนติเมตร)และขนาดจะกลับสู่ภาวะปกติที่ภายใน 6-8 สัปดาห์หลังคลอดบุตร อาการของมดลูกไม่เข้าอู่ตามปกติมักพบร่วมกับการมีเลือดออก ดังนั้นหากมีอาการดังกล่าวควรรีบมาพบแพทย์

3. มีอาการของการติดเชื้อภายในโพรงมดลูก

คนไข้จะมีอาการกดเจ็บมากบริเวณตัวมดลูกหรือมีไข้หรือมีน้ำคาวปลาที่มีกลิ่นเหม็นผิดไปจากปกติ สาเหตุเกิดจาการติดเชื้อแบคเทียเรีย โดยแบคเทียเรียที่มีรายงานว่าทำให้เกิดการติดเชื้อได้บ่อย ได้แก่ เชื้อ GBS , Chlamydia spp. ,Mycoplasma Spp รวมถึงเชื้อ Garnerella Vaginallis

ความเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อ ได้แก่

  1. การผ่าตัดคลอดบุตร
  2. มีประวัติมีเชื้อแบคเทียเรียที่ทำให้เกิดโรคในช่องคลอดของสตรีตั้งครรภ์
  3. มีประวัติน้ำเดินก่อนคลอด หรือมีภาวะติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำก่อนคลอดบุตร
  4. มีภาวะทารกถ่ายขี้เทาในถุงน้ำคร่ำ
  5. ได้รับยาเร่งคลอดเป็นเวลานาน
  6. สตรีตั้งครรภ์อายุน้อยกว่า 20 ปี
  7. สตรีตั้งครรภ์ทารกแฝด
  8. มารดามีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ(BMI ≥ 25 kg/m2)

โดยสตรีตั้งครรภ์ที่มีอาการผิดปกติหลังคลอดตามที่กล่าวข้างต้นควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา โดยทั่วไปการรักษาจะเป็นการให้ยาฆ่าเชื้อ แพทย์อาจพิจารณาให้นอน รพ. เพื่อให้ยาฆ่าเชื้อทางหลอดเลือดดำในกรณีที่มีไข้หรือรักษาด้วยยากินแล้วไม่ดีขึ้น

การรักษา

วิธีการรักษาภาวะตกเลือดในภายหลังขึ้นกับสาเหตุที่ตรวจพบ

  1. การติดเชื้อในโพรงมดลูก : การรักษาจะเป็นการให้ยาฆ่าเชื้อ
  2. มีเศษรกค้างภายในโพรงมดลูก : การรักษาจะประกอบไปด้วยการให้ยาเพื่อให้มดลูกหดรัดตัวและให้ยาฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันการติดเชื้อในโพรงมดลูกและหากตรวจอัลตราซาวน์พบมีก้อนเลือดหรือให้ยาแล้วไม่ดีขึ้นค่อยพิจารณาขูดหรือดูดเลือดออกจากโพรงมดลูก
  3. มีแขนงของเส้นเลือดโป่งพองภายในโพรงมดลูก : เป็นภาวะที่พบได้น้อยมากแต่อันตรายมากเนื่องจากหากแขนงเส้นเลือดแตกจะทำให้เลือดออกไม่หยุดและเสียชีวิตได้หากแพทย์สงสัยภาวะนี้การวินิจฉัยคือการทำ CT-angiogram และการรักษาคือการเข้าไปจี้หยุดเลือดออกที่เส้นเลือด(Uterine artery Embolization)

Reference :  F.Gary Cunningham ,MD ,Kenneth J.Leveno ,MD et al. Williams Obstetrics. 25th edition; chapter 35-36. New York :Mc Graw Hill Education ; 2018

Sheehan's Syndrome ภาวะที่ต่อมใต้สมองตายจาการขาดเลือดไปเลี้ยง

Sheehan’s Syndrome ภาวะที่ต่อมใต้สมองตายจาการขาดเลือดไปเลี้ยง

Sheehan’s Syndrome คืออะไร

Sheehan’s syndrome คือภาวะที่ต่อมใต้สมองตายจาการขาดเลือดไปเลี้ยง อันเนื่องมาจากการตกเลือดหลังคลอดแบบเฉียบพลันในปริมาณมาก ภาวะนี้เป็นภาวะที่พบได้น้อยแต่หากเกิดภาวะนี้จะก่อให้เกิดอันตรายจากการที่ต่อมใต้สมองไม่สามารถจะผลิตฮอร์โมนได้ตามปกติ

เสียเลือดมากเท่าไหร่ถึงเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ Sheehan’s syndrome

ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า การตกเลือดหลังคลอดที่ 1000-2000 ml ร่วมกับการตรวจพบความดันโลหิตต่ำจากการเสียเลือดสามารถทำให้เกิดภาวะนี้ได้ 1-2% ส่วนการตกเลือดหลังคลอดที่มากกว่า 3000 ml ขึ้นไปจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้มากขึ้น

อาการของโรค Sheehan’s syndrome

โรคนี้สามารถเกิดอาการได้ตั้งแต่ภายหลังคลอดบุตรทันทีหรือคลอดบุตรไปแล้วหลายปีโดยหากเกิดอาการภายใน 6 สัปดาห์แรกหลังจากคลอดบุตรจะเรียกว่า Acute-onset Sheehan’s Syndrome แต่หากเกิดภายหลังจาก 6 สัปดาห์หลังคลอดบุตรไปแล้วจะเรียกว่า Late-onset Sheehan’s syndrome

สำหรับอาการของโรค Sheehan’s syndrome จะแสดงอาการตามบริเวณของต่อมใต้สมองที่สูญเสียการทำงานไป คนไข้สามารถมาพบแพทย์ด้วยอาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

  • น้ำนมไม่ไหล
  • ประจำเดือนไม่มาแม้หยุดให้นมบุตรไปแล้ว
  • ผิวหนังแห้ง น้ำหนักขึ้น ขาบวม
  • น้ำตาลในเลือดต่ำ
  • กระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะมาก ตรวจพบเกลือแร่ในเลือดต่ำเรื้อรัง
  • เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ

การตรวจวินิฉัย : ทำได้โดยการส่ง MRI brain ร่วมกับส่งตรวจค่าฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองที่สงสัยว่าผิดปกติ

การรักษา : อายุรแพทย์ด้านต่อมไร้ท่อจะเป็นผู้ทำการรักษา โดยการรักษาจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับฮอร์โมนที่ตรวจพบว่ามีความผิดปกติ การรักษาโดยส่วนมากจะเป็นการให้ฮอร์โมนทดแทน

พญ.ลินลดา วิจักขณ์อุรุโรจน์

เรียบเรียงโดย
พญ.ลินลดา วิจักขณ์อุรุโรจน์
สูตินรีแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
ประจำโรงพยาบาลพญาไท 3

Start typing and press Enter to search