บทความทางการแพทย์

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest)


ประเทศไทยมีประชาชนเสียชีวิตจากโรคหัวใจเฉลี่ยปีละ 54000 คนหรือ เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน โรคหัวใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 รองจากโรคมะเร็งและอุบัติเหตุ

"ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันคืออะไร"

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน คือภาวะซึ่งหัวใจทำงานผิดปกติ จนกระทั่งไม่มีการบีบตัวหรือหยุดเต้นโดยทันที และไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า ทำให้ไม่มีการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงร่างกายส่วนต่างๆ เกิดอาการของการทำงานผิดปกติที่อวัยวะต่างๆ ที่เห็นได้อย่างหนึ่งคือการทำงานของสมอง ซึ่งเมื่อไม่มีเลือดเลี้ยงทำให้หมดสติ การช่วยเหลือโดยการช่วยฟื้นชีวิตในทันทีจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยรอดชีวิต

เพราะฉะนั้นบ่อยครั้งที่อาการแสดงแรกว่าเป็นโรคหัวใจอาจเป็นอาการสุดท้ายและทำให้เสียชีวิตทันที หากมีหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันโดยไม่คาดฝันจนเสียชีวิตใช้ศัพท์ว่า sudden cardiac death

"เราพบภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้บ่อยแค่ไหน"

ข้อมูลของประเทศสหรัฐอเมริกาพบการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลันปีละ 300,000 – 400,000 รายต่อปี โดยพบในกลุ่มนักกีฬาในอัตราส่วนประมาณ 1 ต่อ 65,000 ถึง 1 ต่อ 200,000 สำหรับประเทศไทยนั้นยังไม่มีการเก็บสถิติภาวะนี้อย่างเป็นระบบจึงยังไม่มีรายงานตัวเลขที่ชัดเจน

"สาเหตุของการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน"

สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากหัวใจเต้นผิดปกติที่เรียกว่า Ventricular Fibrillation ในภาวะปกติหัวใจจะผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นให้หัวใจบีบตัวอย่างเป็นจังหวะ ซึ่งจะส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกาย แต่เมื่อเกิดหัวใจเต้นผิดปกติชนิด Ventricular Fibrillation กระแสไฟฟ้าที่ส่งออกจากหัวใจจะเร็วและไม่เป็นจังหวะจนทำให้หัวใจไม่บีบตัวและเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงร่างกายได้ ผู้ป่วยจะหมดสติในไม่กี่วินาทีและเสียชีวิตในไม่กี่นาที แต่อาจจะช่วยให้ปลอดภัยได้โดยการช็อคด้วยกระแสไฟฟ้า(Electrical Shock)จากเครื่องมือที่เรียกว่า Defibrillator ซึ่งเดิมทีเครื่องมือชนิดนี้มีใช้เฉพาะในโรงพยาบาลหรือรถพยาบาล แต่ปัจจุบันเราอาจจะพบเครื่องมือชนิดนี้ที่สามารถใช้งานได้โดยประชาชนทั่วไปที่เรียกว่า AEDs(Automatic External Defibrillators) ตามสถานที่ต่างๆเช่น สนามบิน, โรงเรียน, สนามกีฬา, ห้างสรรพสินค้า, ...

"ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน"

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันมักจะเกิดในคนที่ดูปกติและไม่ทราบว่าเป็นโรคหัวใจมาก่อน แต่โดยความเป็นจริงแล้วเขาเหล่านั้นมักจะมีโรคหัวใจแฝงอยู่โดยที่ไม่รู้ตัว ซึ่งสาเหตุหลักๆคือ

1.หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ ซึ่งพบในผู้ป่วยโรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, ไขมันในเลือดสูง และสูบบุหรี่

2.กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง (low ejection fraction EF)

Ejection Fraction คือการวัดปริมาณเลือดที่สูบฉีดออกจากหัวใจในการบีบตัว 1 ครั้ง คนปกติหัวใจจะบีบตัวให้เลือดสูบฉีดออกไปต่อครั้งประมาณ 50-70% (EF 50-70%) แต่ในคนที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน จะมีการบีบตัวน้อยกว่า 35% (EF <35%) แต่ในผู้ป่วยที่อายุน้อย โดยเฉพาะ <30 ปี มักเกิดจาก

1.ความผิดปกติในทางเดินกระแสไฟฟ้าของหัวใจ เช่น Congenital long QT syndrome (LQTS)

2.ความผิดปกติที่กล้ามดนื้อหัวใจ เช่น Hypertrophic Cardiomyopathy

3.ความผิดปกติที่หลอดเลือดโคโรนารีที่เลี้ยงหัวใจ (Abnormalities of coronary arteries)

"ถ้าเราพบผู้หมดสติควรทำอย่างไร"

สิ่งแรกที่ต้องทำคือตรวจว่าผู้ป่วยหมดสติจริง ให้ทำการเรียกหรือเขย่าตัวผู้หมดสติว่ายังมีการตอบสนองหรือไม่ ถ้าไม่มีการตอบสนอง ให้สังเกตว่าผู้ป่วยมีอาการกระตุกหรือชักเกร็งหรือไม่ หรือหายใจเฮือก หรือหยุดหายใจ และ ถ้ามีให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ป่วยมีภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน หลังจากนั้นจากนั้นให้รีบโทรศัพท์แจ้งเพื่อขอความช่วยเหลือ จากโรงพยาบาลทันที และเริ่มการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานประกอบด้วยการนวดหัวใจ


แค่การนวดหัวใจเพียงอย่างเดียวโดยไม่จำเป็นต้องเป่าปากร่วมด้วย ก็ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้แล้ว(Compression-only CPR "Something is better than Nothing") ซึ่งถ้าบริเวณนั้นมีเครื่อง Automated External Defibrillator หรือ AED ให้รีบนำเครื่องมาใช้

"การทดสอบเพื่อประเมินความเสี่ยง"

มีการตรวจหลายชนิดที่อาจจะประเมินความเสี่ยงได้ เช่น
- การตรวจเลือด เช่น ระดับน้ำตาล, ไขมัน
- คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram)
- คลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiogram) ซึ่งเป็นการตรวจที่สามารถวัด Ejection Fraction
- การติดตามการเต้นหัวใจ (Holter Monitoring) โดยใช้อุปกรณ์ขนาดเล็กประมาณ

โทรศัพท์มือถือติดที่บริเวณหน้าอก ซึ่งจะบันทึกการเต้นของหัวใจได้ตลอดเวลานานถึง 24-48 ชม

"การป้องกัน"

Living a "HEART HEALTHY life จะสามารถลดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน รวมทั้งโรคหัวใจได้

-กินอาหารสุขภาพ เช่นผัก, ผลไม้, พืชเมล็ดถั่ว, ปลา
-ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เช่นเดินเร็วประมาณ 30 นาทีให้ได้เกือบทุกๆวัน
-ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม
-ไม่สูบบุหรี่
- ดูแลรักษาโรคประจำตัว โดยเฉพาะ เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) ต่างกับภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน (Heart Attack) กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Acute myocardial infarction; AMI) หรือรู้จักกันว่า ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน (Heart Attack) เกิดจากการไหลของเลือดเพื่อเลี้ยงส่วนของหัวใจถูกรบกวนทำให้เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนตาย ซึ่งส่วนมากเกิดจากการอุดกั้นของหลอดเลือดโคโรนารีที่เลี้ยงหัวใจ โดยที่หัวใจอาจจะไม่ได้หยุดเต้นขณะเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายและเสียชีวิตได้

จริงๆแล้วภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน (Heart Attack) ก็คือสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิด ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) แต่ก็อาจเกิดจากภาวะอื่นๆได้อีก

ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน (Heart Attack)

กล้ามเนื้อหัวใจตายนับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของทั้งผู้ชายและผู้หญิงทั่วโลก โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคืออายุมาก, โรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, ไขมันในเลือดสูง และสูบบุหรี่


อาการของกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่พบบ่อยได้แก่เจ็บหน้าอกกะทันหัน ซึ่งมักร้าวไปยังแขนซ้ายหรือด้านซ้ายของคอ อาการหายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น เหงื่อออก แต่ราว 1 ใน 4 ของผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายจะไม่มีอาการ คือไม่มีอาการปวดเจ็บหน้าอกหรืออาการอื่นเลย


ในกรณีที่สงสัย ควรเรียกรถพยาบาลเพื่อนำส่งห้องฉุกเฉินโดยเร็วที่สุด และจะได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การถ่ายภาพเอกซเรย์ทรวงอก และการตรวจเลือดเพื่อดูความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจ โดยตัวชี้วัดความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจที่ใช้บ่อยคือ สัดส่วนครีเอตินไคเนส-เอ็มบี (creatine kinase-MB; CK-MB) และระดับโทรโปนิน (troponin)


การรักษาผู้ป่วยที่สงสัยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้แก่การให้ออกซิเจน แอสไพริน และไนโตรกลีเซอรีนชนิดอมใต้ลิ้น จากนั้นจะต้องพิจารณาถึงการรักษาด้วยยาสลายลิ่มเลือดหรือการขยายหลอดเลือดโคโรนารีทางผิวหนัง (Percutaneous coronary intervention; PCI) เพื่อเปิดหลอดเลือดหัวใจให้ได้เร็วที่สุด



 นพ.สุวัฒน์ คงดำรงเกียรติ
อายุรแพทย์โรคหัวใจและหัวหน้าศูนย์หัวใจ  
โรงพยาบาลพญาไท 3
Contact Us
โรงพยาบาลพญาไท 3
  • 111 ถนนเพชรเกษม แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ 10160
  • 66-(0)2-467-1111
  • WebCenter@phyathai.com
  • 365 Montauk Avenue
  • Call us: 203-284-2818
  • E-mail: clinico@domain.com
  • 365 Montauk Avenue
  • Call us: 203-284-2818
  • E-mail: clinico@domain.com
  • 365 Montauk Avenue
  • Call us: 203-284-2818
  • E-mail: clinico@domain.com
  • 365 Montauk Avenue
  • Call us: 203-284-2818
  • E-mail: clinico@domain.com
  • 365 Montauk Avenue
  • Call us: 203-284-2818
  • E-mail: clinico@domain.com
  • 365 Montauk Avenue
  • Call us: 203-284-2818
  • E-mail: clinico@domain.com
Copyrights ©2015 www.phyathai.com